ตัวเลขราคาไข่ไก่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งเอ่ยถึงในสภาฯ ดูจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เพราะเมื่อนำมาเทียบกับราคาไข่ไก่ที่รวบรวม ณ วันที่ 29 กันยายน 2566 พบว่าแตกต่างกันชัดเจน เช่น ไข่ไก่ เบอร์ 3-4 ที่ระบุว่ามีราคา 137 บาท/แผง (30 ฟอง) ขณะที่ข้อเท็จจริงอยู่ที่ 127-132 บาท/แผง หรือ ไข่ไก่เบอร์ 2-3 ที่ระบุว่าราคาแผงละ 165 บาท แต่ข้อเท็จจริงราคากลับอยู่ที่แผงละ 132-135 บาท ขณะเดียวกัน หากพิจารณาข้อมูลของกรมการค้าภายในก็ระบุว่าราคาไข่ไก่อยู่ในระดับเดียวกับที่สำรวจตลาดมา โดยไม่มีการขยับขึ้นมา ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 แล้ว
เกษตรกรรายหนึ่งกล่าวถึงคำพูดของท่าน สส.ที่ว่า “กลไกราคาของไข่ มันมีคนควบคุม ที่จะให้ถูกหรือแพง ถ้าต้องการให้ไข่แพง เขาก็เอาไข่เข้าห้องเย็น ให้ไข่หายจากท้องตลาด…ถ้าอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เจ๊งก็นำไข่ออกมาจากห้องเย็น” สะท้อนว่าผู้พูดไม่รู้จักธรรมชาติของการค้าขายไข่ไก่ เพราะปัจจุบันวิธีการขายไข่ไก่บ้านเราเป็นการขายวันต่อวัน ผลผลิตไข่ไก่ของประเทศไทยมีอยู่ราวๆ 42 ล้านฟอง/วัน สอดคล้องกับปริมาณความต้องการบริโภคที่ 41.89 ล้านฟอง/วัน การที่พ่อค้าคนกลางจะนำไข่ไก่เข้าห้องเย็นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีปัจจัยบางอย่างเข้ามากระทบ
เช่น เทศกาลกินเจ หรือปิดเทอม ที่อัตราการบริโภคไข่จะน้อยลง แต่เมื่อเทศกาลผ่านไปก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ กล่าวได้ว่า การนำไข่ไก่เข้าห้องเย็นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผลผลิตส่วนเกินเท่านั้นและจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่หากพบว่ามีภาวะไข่ส่วนเกินมากๆ ก็จะเข้าสู่กระบวนการส่งออกไข่หรือปลดแม่ไก่ยืนกรง ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของเอ้กบอร์ดหรือคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ และปัจจุบันผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ร่วมกันจัดตั้ง กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ มาดูแลเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้เกษตรกรอยู่ได้และต้องคำนึงถึงผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนด้วย
ที่ผู้เขียนใช้พาดหัวว่า “ไข่นายกเศรษฐา” ก็เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นสิ่งที่ในสภาฯ มีการเอ่ยถึง ทั้งที่จริงๆแล้ว ยุคนี้ไม่ควรมีการนำไข่ไก่มาเปรียบเป็นไข่นายกกันแล้วเนื่องจากมันส่งผลกระทบถึงความอยู่รอดของเกษตรกรคนเลี้ยงไก่ไข่ เพราะเป็นปกติที่เมื่อถูกเปรียบเทียบ รัฐบาลแต่ละสมัยก็จะพยายามกดราคาไข่ไก่ให้ต่ำเข้าไว้ จนทำให้เกษตรกรไทยไม่ได้ลืมตาอ้าปากเสียที โดยมีการรณรงค์เรียกร้องให้เลิกใช้ไข่ไก่เป็นดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ โดยเฉพาะเลิกใช้คำเปรียบเป็น ไข่นายกฯ จนประชาชนเกิดความเข้าใจ แต่วันนี้กลับถูก สส.นำมาโยงอีกครั้งซึ่งไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรเลย
ถึงบรรทัดนี้ คงต้องขอย้ำให้เกิดความเข้าใจกลไกตลาดไข่ไก่ว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่มีผลผลิตออกจากก้นแม่ไก่ทุกวัน และเป็นสินค้าอ่อนไหวที่มีปัจจัยใดมากระทบเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลถึงราคาและความอยู่รอดของเกษตรกรแล้ว หากคิดจะช่วยประเทศชาติให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี โปรดศึกษาอย่างรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานเสียก่อน เพื่อไม่ให้ความหวังดีนั้นกลับกลายเป็นประสงค์ร้ายสร้างความเสียหายต่อประเทศและเกษตรกรแทน
โดย…อิสระ คงยินดี