จากปัญหากรณีสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จากบริษัทผู้ส่งออก 8 บริษัท และตีกลับตู้จำนวน 29 ตู้ ประมาณกว่า 300 ตัน จากผู้ประกอบการ หรือ “ล้ง” ในพื้นที่ จ.ชุมพร พร้อมกับมีหนังสือแจ้งเตือนจาก GACC ผ่านทางทูตเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง มายังประเทศไทยนั้น และภายหลังยังตรวจพบและแจ้งเพิ่มอีก 5 ล้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของทุเรียนไทย
ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมาถึงระดับภูมิภาค และจังหวัด ก้นร้อนอยู่กันแทบไม่ติด เพราะจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี
เนื่องจากจังหวัดชุมพร ขึ้นชื่อว่าเป็นมหานครแห่งผลไม้ภาคใต้ เป็นตลาดกลางรับซื้อส่งออกใหญ่สุดของภาคใต้ โดยเฉพาะทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักส่งออกไปขายยังประเทศจีน นำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้านบาท จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ในปี 2566 จังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 279,254 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 260,768 ไร่
ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ ตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ที่ส่งไปจากจังหวัดชุมพร และตีกลับตู้จำนวน 29 ตู้ กว่า 300 ตัน กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตามองว่า หน่วยงานเกี่ยวข้องจะแก้ปัญหานี้อย่างไร และทันต่อสถานการณ์หรือไม่ ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างประเทศเวียดนาม พยามส่งออกทุเรียนตีตลาดจีนแข่งกับประเทศไทย เพื่อหวังโค่นล้มแชมป์จากประเทศไทย มานางสาวอย่างต่อเนื่อง และอาจจะใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสแซงหน้าประเทศไทยไปก็เป็นได้
ขณะที่ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ประชุมชี้แจงแนวทางในการควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อการส่งออกสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร อ.สวี จ.ชุมพร
โดยมีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุในพื้นที่ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ ยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมประชุม จำนวน 100 ราย เพื่อหารือแนวทางปฎิบัติร่วมกันในการควบคุมและการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน สำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย
สำหรับการป้องกันปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพในพื้นที่ จ.ชุมพร ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2566 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพจังหวัดชุมพร จากหน่วยงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร สนง.เกษตรจังหวัดชุมพร สนง.เกษตรอำเภอหลังสวน และป้องกันจังหวัดชุมพร ลงพื้นที่ตรวจติดตามคุณภาพทุเรียนที่รับซื้อ-ขายในพื้นที่อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อย่างต่อเนื่อง โดยการสุ่มตรวจคุณภาพเนื้อทุเรียน เปอร์เซนต์แป้ง รวมถึงร่องรอยหนอนเจาะ เพื่อป้องปรามการลักลอบซื้อ-ขายทุเรียนด้อยคุณภาพ
จากการได้สุ่มตรวจคุณภาพทุเรียน พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีการคัดทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกตามมาตรฐาน แต่จากการตรวจสอบโดยละเอียดพบมีแผงทุเรียนบางแห่ง มีทุเรียนด้อยคุณภาพ ทุเรียนหนอนเจาะ และทุเรียนอ่อนอยู่บ้าง คือเปอร์เซนต์น้ำหนักแห้งไม่ถึง 32 % ซึ่งได้เข้าดำเนินการตามมาตรการพ่นกากบาทสีแดงเป็นสัญลักษณ์ทุเรียนอ่อน เพื่อป้องกันการนำไปขายปะปนกับทุเรียนคุณภาพ
นอกจากนี้จากข้อมูลในห้วงที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพจังหวัดชุมพร ได้ออกตรวจโรงคัดบรรจุไปแล้ว 1,105 แห่ง สุ่มตรวจจำนวน 1,863 ตัวอย่าง ตรวจผ่าน 1,727 ตัวอย่าง และไม่ผ่าน 136 ตัวอย่าง ซึ่งได้คัดทุเรียนด้อยคุณภาพออกทำลายแล้วกว่า 2,690 ผล หรือคิดเป็น 8,825.5 กิโลกรัม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำทุเรียนดังกล่าวส่งออกหรือออกจำหน่ายในท้องตลาด
นอกจากนั้นในห้วง 15 วัน ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 15-29 สิงหาคม 2566 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร ศูนย์เครือข่ายสำนักวิจัยและการพัฒนา เขต 7 กรมวิชาการเกษตร ยังมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จากการร่วมกันบูรณาการตรวจโรงคัดบรรจุผลไม้สดทุเรียน ในพื้นที่อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน เพื่อป้องกันปัญหาการส่งออกทุเรียนด้อยคุณภาพ จำนวน 257 โรง ยังพบมีทุเรียนด้อยคุณภาพจำนวน 2,327 กิโลกรัม
สำหรับปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและทุเรียนหนอนเจาะเมล็ด จากการตรวจสอบของหน่วยงานเกี่ยวข้องพบว่ามาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกแบบธรรมชาติ ลดต้นทุน ไม่ใช้วิธีการหรือสารกำจัดแมลงแต่อย่างใด และผลผลิตมีราคาถูกเฉลี่ยตามเกรด กิโลกรัมละ 90-110 บาท ขณะที่ทุเรียนคุณภาพในพื้นที่จังหวัดชุมพร อยู่ที่กิโลกรัมละ 110-150 บาท และบางช่วงสูงถึงกิโลกรัมละ 160-170 บาท
จากราคาทุเรียนที่แตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ประกอบการบางแห่ง เสี่ยงที่จะรับซื้อผลผลิตทุเรียนจากชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจากจังหวัดยะลา มาผสมปะปนเพื่อปิดตู้คอนเทรนเนอร์ ส่งออกไปยังต่างประเทศ เนื่อจากมีกำไรมากกว่าเท่าตัว
ขณะที่ผู้ประกอบการหลายแห่งในจังหวัดชุมพร ต่างหวาดหวั่นจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จึงได้ปิดประกาศผ่านสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไม่รับซื้อทุเรียนจากจังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดยะลา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับล้งของตนเอง
ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่าจากปัญหาดังกล่าวตนได้ประชุมหารือเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี เกษตรจังหวัดชุมพร พาณิชย์จังหวัดชุมพร ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้ประกอบการล้งทุเรียน สมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ผู้แทนชาวสวนทุเรียน
โดยที่ประชุมได้หารือออกแบบแนวทางข้อเสนอในการแก้ปัญหา ในรูปแบบต่างๆ และขอให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพทุเรียนเบื้องต้น ในการขนส่งขอให้ระบุที่มาจากสวนใด พื้นที่ใด จะไปปลายทางที่ใด เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนปลายทางให้แยกกองทุเรียน ตรวจสอบคุณภาพก่อนแพ็คอีกครั้ง
ในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ประกอบด้วย มาตรการต้นทาง หลังเก็บเกี่ยว ควรพักทุเรียน 1-2 วัน การคัดแยกผลผลิต การตรวจการออกใบกำกับจากต้นทาง เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ และมาตรการปลายทาง ในโรงคัดบรรจุ ให้แยกกอง ตรวจสอบบ่มนาน 2-3 วัน และก่อนบรรจุต้องตรวจสอบอีกครั้ง