Sunday, 22 December 2024 - 10 : 29 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ปลูกผักยกแคร่ หนีน้ำท่วมสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาหนี้ กับโมเดล D&MBA ขอนแก่น

ธ.ก.ส. ชูชุมชนห้วยเสือเต้น จังหวัดขอนแก่น ต้นแบบการใช้โมเดล D&MBA ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยคนในชุมชน เริ่มจากปลูกผักยกแคร่ หนีน้ำท่วม สู่การทำเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หนุนคนรุ่นใหม่เป็นหัวขบวนในการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมเติมทุนต่อยอดธุรกิจสู่มาตรฐานผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายศรัทธา อินทรพรหม และนายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานสวนลุงทิด (เพาะความสุข) ของนายอาทิตย์ แสงโลกีย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่หันมาปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น ไผ่บงหวานพันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ดอกกระเจียวหวาน ผักหวานป่า มะเดื่อฝรั่ง กล้วย ผักสลัดต่างประเทศนานาชนิด และไข่ไก่พื้นเมืองจากไก่แดงดอกคูณ เป็นต้น ซึ่งผลผลิตจากสวนลุงทิดได้รับการรับรองแหล่งผลิตอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตรและมาตรฐาน GAP จากการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model มีการปลูกผักยกแคร่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช มีการนำผลผลิตกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปหลากหลายช่องทาง อาทิ ตลาดชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ โดยสวนลุงทิดยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. และเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ที่เปิดสวนให้เข้าเยี่ยมชมงาน พร้อมถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการขยายต้นพันธุ์พืชจำหน่ายให้กับผู้สนใจเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและขยายเครือข่ายการเกษตรควบคู่ไปด้วย

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวว่า สวนลุงทิด เป็นหนึ่งในธุรกิจหัวขบวนของชุมชนห้วยเสือเต้น ซึ่งมีสมาชิกในชุมชนจำนวน 338 ครัวเรือน โดยคนในชุมชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อุทกภัยและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและรายได้รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางการจัดการ – การออกแบบเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” หรือ Design & Manage by Area : D&MBA เริ่มตั้งแต่การประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ เพื่อคลายความกังวลและลดภาระในการชำระหนี้ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้โดยเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการหมู่บ้านสีขาวมั่นยืน เพื่อเข้ามาช่วยเติมองค์ความรู้และเสริมทักษะด้านการพัฒนาอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ ให้คนในชุมชน เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผักบนแคร่และบนโต๊ะ การแปรรูปอาหาร หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนด้วยการเปิดร้านค้าชุมชน โรงสีชุมชน โรงกรองน้ำดื่มชุมชนและชุมชน OTOP นวัตวิถี โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อสำหรับลงทุนและเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรในชุมชน ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อแปลงใหญ่ และสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรกลเป็นจำนวนกว่า 34 ล้านบาท

© 2021 thairemark.com