Sunday, 22 December 2024 - 7 : 02 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

กูรูอุตสากรรมฟันธง ESG อาวุธตัวใหม่การค้าโลก

เมื่อเร็วๆนี้ บ. พีเอ็มจี ได้เปิดแพลตฟอร์มใหม่ ESG UNIVERSE เพื่อเป็นสื่อกลางในการเป็นองค์ความรู้และกิจกรรมความยั่งยืน เชื่อมโยงต่อโลกธุรกิจ ภาคสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมระดมกูรูผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นักลงทุน เพื่อให้เห็นความสำคัญของESG ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตตามกฎกติกาโลกยุคใหม่     

    เห็นว่าโลกการค้าและการลงทุนในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลง ESG หรือ ENVIRONMENT SOCIAL และ GOVERNANCE  กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่มีอิทธิต่อนักลงทุนทั่วโลกในยุคปัจจุบันนำมาใช้ในการประกอบพิจารณาในการลงทุน การค้า โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3ด้านคือ สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล บริหารธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

    จึงเกิดแนวคิด ESG สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจด้วยการสะท้อนบทบาทที่ดีต่อสังคม นำเสนอบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อส่วนได้เสีย ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้ง การพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพได้

   โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ  มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาความเป็นอยู่และที่ดี ทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม       

     มงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการ บ.PMG คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าช่วง 3ปีที่ผ่านมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุณหภูมิค่อนข้างสูง  โดยเฉลี่ยอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.1 องศา  ส่งผลต่อความหายนะไปทั่วโลก ถ้าหากไม่เร่งปรับตัว เพราะกติกาโลกมีมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ จะหันมามุ่งเน้นว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธุรกิจธรรมาภิบาล

     ในอนาคตการทำธุรกิจ มีความจำเป็นจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งเรื่องการค้าในประเทศและการค้าโลก  ส่วนผู้ประกอบการ นักลงทุน จะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก  ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องภาคเกษตรกรรม เรื่องอาหาร เพื่อมนุษยชาติในอนาคต เชื่อว่าผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญ ESGเพิ่มขึ้น

     ด้านเกียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมอีกว่าในส่วนภาคอุตสาหกรรม จะให้ความสำคัญเรื่อง ESG ค่อนข้างสูง เพื่อปรับแผนรองรับในอนาคต เนื่องจากESGเป็นกติกาใหม่ที่ท้าทาย ทางภาครัฐจะต้องเตรียมตัวให้ทันกับโลก จะดำเนินการแบบเดิมๆต่อไปอีกไม่ได้ ยิ่งในตอนนี้ภาคการค้าแถบยุโรปค่อนข้างเข้มงวด อาจมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจและการค้าในอนาคตได้

      อย่างช่วงนี้ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50ปี หรือ100 ปี ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งเรื่องสารเรือนกระจก ผลกระทบการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯสู่ภาวะอากาศ ดังนั้น ผู้นำของประเทศเคยได้ประกาศในที่ประชุมผู้นำโลก ว่าเมืองไทยจะลดสารคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2030

      ดังนั้น  การผลักดันESG จึงกลายเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ เหล็ก,แก้ว,ซีเมนต์,ปีโตรเคมี,เซรามิค เป็นต้น ส่วนในอีก2ปี อุตสาหกรรมอื่นๆจะตามมาไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือธุรกิจขนาดเล็ก SME เป็นต้น

        ด้านอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองว่าหากเราไม่เร่งปรับตัวก่อน จะไปไม่รอด เนื่องจากกฎระเบียบทางการค้าเข้มงวดขึ้น ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังขายในประเทศ ยังไม่มีใครมากีดกันได้มากนัก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่งออกไปตลาดโลกมีอยู่จำนวนมากจะรับผลกระทบแน่ อย่างใน10ประเทศที่ไทยทำการค้า เริ่มมีมาตรการกีดกันการค้าเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

          เพราะฉะนั้น หัวใจหลักในยุคที่กระแสโลกเปลี่ยนแปลง  นักลงทุนไทยต้องหันมาสนใจ ESG เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อขอสินเชื่อทางการเงิน และสิทธิพิเศษต่างๆในเรื่องการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3ล้านราย จะมีสักกี่ราย จะก้าวข้ามออกมาได้ 

            วีรพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มองว่า ปัจจุบันกลุ่มเอสเอ็มอี มีมูลค่าการส่งออกราว 2หมื่นล้านบาท หากแต่ละรายไม่ได้หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อไปอยู่ยากขึ้น จะต้องปรับกระบวนความคิดใหม่ เพราะวันนี้มีกติกาโลกเริ่มเข้มงวดขึ้น จะมุ่งหวังแค่ทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเหมือนระบบเก่าๆไม่ได้ อย่างการจัดตั้งโรงงานใหม่ จะต้องคำนึงถึงทำอย่างไรที่จะไม่ทำลายเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญคู่ค้าเอง เขาจะพิจารณาสินค้าจากโรงงานที่เอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อม

          แสงชัย ธีรกุลวาณิช  ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวเสริมว่ายุคนี้ ESG เริ่มมีความใกล้ชิดต่อผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ที่มีตัวเลขส่งออกสูง หากไม่ให้ความสำคัญ   ส่งผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีผู้ประกอบการอยู่  8พันกว่าราย ไทยติดอันดับ 6 ของเอเชีย และอันดับ35ของโลก ในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์จากจำนวน 132 ประเทศ

           ประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว อาหารไทย งานโฆษณา แฟชั่น งานจิลเวลรี่ และงานสิ่งทอ มีมูลค่านับแสนล้าน ต่อไปธุรกิจเหล่านี้ จะต้องห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  การขายสินค้าต้องไม่เป็นพิษ เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระบบการค้าระหว่างประเทศ จะเข้ามากำกับดูแล ส่งผลบริษัทต่างๆจะนิ่งนอนใจไม่ได้

             แนวคิด ESG เปรียบเสมือนอาวุธทางการค้าตัวใหม่ ที่จะเข้ามามีบทบาทในสมรูมิรบการค้าโลก เพื่อที่สร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจ และสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม   รวมทั้งการบริหารจัดการโปร่งใส  ตรวจสอบได้ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจใน ประเทศให้มีการเติบโตแบบยั่งยืน เป็นธรรม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีต่อโลก   ที่ผู้ประกอบการจะมองข้ามไม่ได้อีกแล้ว

© 2021 thairemark.com