เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 สิงหาคม 2566 พลอากาศเอกสถิตพงษ์ สุขวิมล ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยพันตำรวจเอกธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง พลตรีปริญ รื่นภาควุฒิ ประจำราชเลขานุการในพระองค์ฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมคณะลงตรวจติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชัง ณ บริเวณเกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พล.ต.ต.ชมชวิณ ปุระธนานนท์ รองผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 7 รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี นายนันทวัฒน์ ทองช่วง นายอาเภอเกาะสีชัง นายสรศักดิ์ เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชังพร้อมหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชังในครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการสำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์บนพื้นที่เกาะสีชัง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง การวางท่อประปาไปที่เกาะลอย ระยะทาง 600 เมตร แผนการวางระบบประปาจากเกาะลอยไปเกาะสีชัง แผนการดำเนินการวางระบบประปาบนพื้นที่เกาะสีชัง โดยการประปาส่วนภูมิภาค รวมไปถึงการส่งมอบระบบน้ำบาดาล ชี้แจงวิธีใช้งานพร้อมการดูแลบำรุงรักษาระบบน้ำบาดาล ที่สนามกีฬาโรงเรียนเกาะสีชัง การแก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำรั่วซึมลงผิวดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมทรัพยากรน้ำ การเพิ่มคุณภาพน้ำบริเวณถังกักเก็บน้ำด้วยระบบกรองน้ำที่ท่ายายทิมและแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยวบริเวณท่ายายทิม โดยทางเทศบาลเกาะสีชัง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องไฟฟ้าในส่วนของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการติดตั้งระบบไมโครกริดบนพื้นที่ 52 ไร่ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การบริหารจัดการขยะบนเกาะสีชัง โดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า สำหรับผลของการติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชังนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองชี้แจงว่าเกาะสีชังอยู่ใต้ผังเมือง EEC อยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองชุมชนให้สอดคล้องกับผังเมือง EEC คาดว่าอีก 8 เดือนจะประกาศใช้ได้ ในส่วนของเกาะสีชัง ได้จัดทำผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์ของพื้นที่สูงสุด ให้เป็นเมืองน่าอยู่ คู่การท่องเที่ยว ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ การใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น ทำผังเมืองรวมเกาะสีชัง พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้เกิดการคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พัฒนาระบบน้ำอุปโภคบริโภค พัฒนาระบบไฟฟ้า พัฒนาสภาพแวดล้อมและทัศนียภาพเกาะสีชัง และการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยว เช่น ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเชิงนิเวศน์ สร้างจุดแลนมาร์คใหม่บริเวณอ่าวจ๊อกค็อก ทำระบบรางขึ้นเจ้าพ่อใหญ่พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางขึ้น ปรับปรุงหมวดศิลา และบ่อแดง
ในส่วนของเรื่องการบริหารจัดการน้ำสภาพปัญหาของประชาชนชาวเกาะสีชังขาดแคลนน้ำ 2,200 ครัวเรือน ในช่วงฤดูแล้งประชาชนจะต้องซื้อน้ำใช้อุปโภคบริโภคในราคาสูงทำให้เกิดความเดือดร้อน ดังนั้นการวางแผนดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำบนเกาะสีชังได้มีการเสนอแผนงานเพื่อขอรับงบประมาณมาใช้ตามแผนที่วางไว้เป็นที่เรียบร้อยทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมไปถึงทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เข้ามาดำเนินการ เจาะบ่อบาดาล 6 บ่อ พบน้ำ 3 บ่อ ใช้ประโยชน์ได้ดี 2 บ่อ โดยจะนำน้ำมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง และอยู่ระหว่างส่งมอบให้ทางเทศบาลเกาะสีชังเข้ามาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนอ่างเก็บน้ำชำรุดไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ปัจจุบันมีการซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อยแล้ว แต่พบปัญหาว่าแหล่งต้นน้ำที่จะนำมากักเก็บในอ่างมีปริมาณน้อย เนื่องจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณฝนน้อย ดังนั้นจึงแนะนำให้ทำฝายกักเก็บน้ำ ซ่อมแซมพื้นที่ก้นอ่างให้กักเก็บน้ำได้ และสร้างธนาคารน้ำหินก็อกแก็ก
สำหรับความคืบหน้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยข้อมูลพื้นฐานของเกาะสีชังมีจำนวนผู้ใช้ไฟบนเกาะ 1,600 ราย ใช้ไฟ 10 ล้านหน่วย ปัจจุบันเร่งติดตั้งโซล่าฟาร์ม 20 ไร่ เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่ รวมถึงแบ่งพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์กระรอกข่าว ที่เป็นสัตว์ประจำถิ่นของเกาะสีชัง โดยในอนาคตวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด มีการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ สอดคล้องการจัดทำผังเมืองรวมเกาะสีชัง ในระยะยาวมุ่งไปสู่การเป็น Smart City
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่าการบริหารจัดการขยะบนเกาะสีชัง ปัจจุบันใช้มาตรการเรื่องถังขยะเปียกลดโลกร้อน แต่ปริมาณขยะต่อวันยังมีมากกว่าความสามารถในการจัดการขยะบนเกาะ โดยเตาเผาขยะสามารถเผาขยะได้ไม่เกิน 6 ตัน ในขณะที่มีปริมาณขยะ 10-15 ตันต่อวัน ประกอบกับมีปริมาณขยะบนเรือสินค้าที่มีการขนเข้ามาทำลายบนเกาะเช่นกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เสนอในส่วนของการหาความร่วมมือให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนสร้างเตาเผาขยะเพื่อกำจัดขยะปลายทางจะสามารถช่วยลดปัญหาการจัดการขยะบนเกาะสีชังได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญสำคัญของชาวเกาะสีชังที่คณะลงตรวจติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชัง คือปัญหาเรื่องน้ำ จำเป็นต้องนำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องเรือขนถ่ายน้ำอยากให้มีส่วนราชการเข้ามาสนับสนุนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำของประชาชน ส่วนเรื่องขยะนั้นโดยเฉพาะขยะทะเลควรนำไปกำจัดบนฝั่ง เนื่องจากศักยภาพการกำจัดขยะของเกาะยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องอื่นๆนั้นถือได้ว่าดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมกันนี้ได้มีการลงสำรวจพื้นที่ถังกักเก็บน้ำที่ท่ายายทิม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาให้สามารถกักเก็บน้ำและพัฒนาคุณภาพน้ำให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างสะอาดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ด้านนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรีกำลังผลักดันเกาะสีชัง ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ของไทย โดยจังหวัดชลบุรี มีลักษณะทางกายภาพภูมิประเทศที่มีความพร้อมด้านลอจิสติกส์ทั้งน้ำ และทางบก รวมทั้งทางอากาศที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางทะเล และเส้นทางผ่านการเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาคอินโดจีนและจัดให้เป็นศูนย์บริการท่องเที่ยวครบวงจรเชื่อมโยงเกาะต่างๆเกาะขามใหญ่ และเกาะค้างคาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการศึกษาธรรมชาติซึ่งจะสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่