ปัญหาฝุ่นพิษในภาคเหนือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน หาใช่การโยนความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่าเราทุกคนล้วนเป็น “ผู้ร้าย” ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น
เมื่อเร็วๆนี้ นักวิชาการระดับแถวหน้าของไทยอย่าง ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ได้ออกมาให้ข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยอ้างอิง “รายงานสถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเผาในที่โล่งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านระหว่างปี 2562-2564 โดยคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายใต้สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี” ที่ทำให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น ขออนุญาตคัดบางช่วงบางตอนมากล่าวถึง
ในเนื้อหารายงานนั้น มีการระบุถึงรายละเอียดการศึกษาการเผาไหม้ซ้ำซากใน ภาคเหนือตอนบน ที่สามารถระบุสถานที่และเวลาของการเผาได้อย่างชัดเจนไว้ด้วย ขณะเดียวกัน คณะทำงานดังกล่าว ยังได้วิเคราะห์พื้นที่เผาซ้ำซากรวมทั้งสิ้น 9.7 ล้านไร่ พบว่าเป็นการเผาพื้นที่ในป่าถึงร้อยละ 65 เป็นนาข้าวร้อยละ 22 เป็นข้าวโพดเพียงร้อยละ 6 และเกษตรกรรมอื่นๆ ร้อยละ 3 ส่วนไร่อ้อยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2
สอดคล้องกับข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่ระบุว่าจุดความร้อนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ช่วงมกราคม-มีนาคม 2566 พบว่า ในป่าอนุรักษ์ มีจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าถึง ร้อยละ 95.6 ส่วน ในพื้นที่เกษตร มีจุดความร้อนในพื้นที่นาข้าวร้อยละ 56.6 พื้นที่พืชเกษตรอื่นๆ ร้อยละ 20.8 พื้นที่ปลูกอ้อย ร้อยละ 10.8 และ มีจุดความร้อนในพื้นที่ไร่ข้าวโพดหมุนเวียน เพียงร้อยละ 10.7
ข้อมูลทั้งสองชุดดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนถึงแหล่งเผาที่เกิดขึ้น และสังเกตได้ว่า “พื้นที่เกษตรที่มีการปลูกข้าวโพด” มีการเผาเพียงร้อยละ 10.7 ดังนั้น หากพุ่งเป้าจ้องจับผิดแค่เพียงการปลูกข้าวโพดอย่างเดียว อาจทำให้ผิดประเด็นจนทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่สามารถแก้ฝุ่นพิษนี้ได้สำเร็จ
ขณะที่ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดรายใหญ่ของไทย ก็มีความพยายามในการจัดการปัญหา ด้วยการยุติการรับซื้อข้าวโพดรุกป่าและผ่านการเผาตอซัง ด้วยโครงการ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ซึ่งทำสำเร็จแล้ว 100% โดยมีกระบวนการจัดการตั้งแต่การลงทะเบียนเกษตรกร ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน GAP ที่จะช่วยทั้งการเพิ่มผลผลิตและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกัน ซึ่งน่าจะมีส่วนในการช่วยลดปัญหาการเผาไร่ข้าวโพดจากในอดีต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวยังนำแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ไปใช้เป็นมาตรฐานการรับซื้อข้าวโพดที่เมียนมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วย เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นเดียวกับไทย และอาจจะเกิดขึ้นคล้ายกับตัวเลขรายงานของ GISTDA ซึ่งต้องมีข้อมูลตรงนี้มาประกอบให้ชัดเจน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงประเด็น และไม่ว่าจุดความร้อนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ป่าและนาข้าวเช่นเดียวกับไทยหรือไม่ การพิจารณาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 นี้ ก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลไทยกับรัฐบาลของทุกประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันขจัดมลพิษทั้งภูมิภาค … ให้ทุกคนได้เห็นสีฟ้าสดใสตาม “ยุทธการฟ้าใส” ของรัฐบาลไทยในเร็ววัน
โดย… ดำรง พงษ์ธรรม