Monday, 30 December 2024 - 1 : 00 am
kanda_002
data-no-lazy="1"
kanda_002

ร้องรัฐเร่งกวาดล้าง “หมูลักลอบนำเข้า” ซุกห้องเย็นให้สิ้นซากเสี่ยงโรคระบาด-สารเร่งเนื้อแดง

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้องรัฐปราบปรามเข้มงวด “หมูลักลอบนำเข้า” ผิดกฎหมายสำแดงเท็จเก็บในห้องเย็น นำมาขายปนบนเขียงหมู วิตกนำโรคระบาดติดเข้ามาแพร่กระจายในไทย ส่งผลต่อการผลิตหมูไทยที่เกษตรกรเพิ่งเริ่มนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่เพียง 20% วอนผู้บริโภคซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ และร้านที่ได้การรับรองมีตราสัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำว่า ขณะนี้ยังมีขบวนการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งหมูลักลอบนำเข้าดังกล่าวมีความเสี่ยงเป็นพาหะนำเข้าโรคระบาดต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย ที่สำคัญหากมีแหล่งที่มาจากประเทศที่ยังมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทย เพราะเป็นสารที่กรมปศุสัตว์ประกาศห้ามใช้แล้ว และขอให้ภาครัฐสุ่มตรวจเนื้อหมูแช่แข็งที่วางขายทั่วไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

“ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมาย หวังฉวยประโยชน์ช่วงที่ราคาหมูในประเทศสูง เป็นการตัดโอกาสเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กในการขายเนื้อหมูได้ในราคาสมเหตุสมผล ทั้งที่เพิ่งเริ่มนำหมูเข้าเลี้ยงในภาวะต้นทุนสูงขึ้นจากปัจจัยรอบด้านทั้งโรคระบาดและสงคราม ที่สำคัญเป็นภัยร้ายกับผู้บริโภคโดยตรงเพราะหลายประเทศในตะวันตกยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ได้” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู ใช้วิธีการสำแดงนำเข้าเป็นเท็จ ว่า เป็นสินค้าชนิดอื่นเพื่อส่งต่อให้ลูกค้า เช่น อาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ และนำมาขายปะปนกับหมูไทยในตลาดสดซึ่งไม่สามารถแยกแยะได้ เสี่ยงทั้งโรคระบาดและสารเร่งเนื้อแดง ถือเป็นภัยร้ายทำลายเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง โดยช่วงที่ผ่านมากรมปศุสัตว์การตรวจพบหมูลักลอบนำเข้าในห้องเย็นในพื้นที่เดิมจังหวัดนครปฐมและราชบุรี

ทั้งนี้ เนื้อหมูและชิ้นส่วนนำเข้าผิดกฎหมายมาจากหลายแหล่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน บราซิล อิตาลี เบลเยียม และเกาหลี โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้าและไม่มีหลักฐานแสดงแหล่งที่มา หากพบโรคในซากสัตว์ดังกล่าวจะเป็นการซ้ำเติมวิกฤตที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่

“ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน ในห่วงโซ่การเลี้ยงหมู ให้ความช่วยเหลือกันอย่างดีและให้ความร่วมมือภาครัฐอย่างเข้มแข็งในการป้องกันโรค ASF และพยายามผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรกลับเข้าสู่ระบบอย่างมั่นใจและรวดเร็ว แต่กลับมีขบวนการทำลายระบบการผลิตหมูที่พยายามผลิตหมูปลอดภัยให้คนไทยอย่างเพียงพอ” นายสิทธิพันธ์ กล่าวและเสริมว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศให้ความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นอย่างดี ในการรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ราคา 100 บาท/กิโลกรัม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้คนได้บริโภคเนื้อหมูในราคาที่สมเหตุผล และเร่งเพิ่มผลผลิตเพื่อทดแทนส่วนที่หายไป 50% จากโรคระบาด ASF ให้มีเพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์อย่างเด็ดขาดตั้งแต่พ.ศ.2545 ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปี พ.ศ.2546 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข