นายกฯ ถึงกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เตรียมร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งที่ 1 ก่อนเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร แห่งซาอุฯ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธ์ ไทย กับกลุ่มประเทศ GCC ที่มีกำลังซื้อสูง
เมื่อเวลา 05.40 น. วันที่ 20 ต.ค. 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ และคณะ เดินทางถึงราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับครั้งที่ 1 (ASEAN-GCC Summit) และเยือนประเทศซาอุอาระเบียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-21 ต.ค.
เมื่อเดินทางถึงนายกฯ พร้อมพิธีต้อนรับ โดยมีรองผู้ว่าการมณฑลริยาด นายกเทศมนตรีกรุงริยาด เลขาธิการคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ และเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย ให้การต้อนรับ
จากนั้น นายกฯ เดินทางไปยังโรงแรม Ritz Carlton ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักก่อนปฏิบัติภารกิจ โดยนายกฯ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับฯ โดยเมื่อบริเวณห้องโถงหน้าห้องประชุม เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎุราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ต้อนรับและถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนเข้าร่วมการประชุม
จากนั้น 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกฯ จะร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำภายหลังการประชุมสุดยอด ASEAN-GCC Summit ก่อนที่เวลา 11.40 น. นายเศรษฐา เข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัดบิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกฎุราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับฯ เป็นการประชุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์อาเซียน-GCC ที่มีมากว่า 30 ปี การเข้าร่วมการประชุมของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในระดับสูงของไทยในการกระชับความสัมพันธ์กับ GCC และประเภทสมาชิกต่างๆของ GCC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่ไทยเพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยกับกลุ่มประเทศ GCC
ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงและแหล่งทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มประเทศ GCC รวม 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะโอกาสในด้านอาหาร พลังงาน และการท่องเที่ยว รวมถึง การพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การจัดทำ FTA-GCC และอาจเสนอให้พิจารณาจัดตั้งอาเซียน GCC Business forum เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายและการไปมาหาสู่ของประชาชนในสองภูมิภาค ทั้งในเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ