Thursday, 5 December 2024 - 2 : 15 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

หมูเถื่อนไม่หมด : คดีไม่จบ ปปง. ฟันต่อยึดทรัพย์

นับจากไทยประกาศพบโรคระบาด ASF อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2565 ถึงวันนี้อีกประมาณ 3 เดือน จะครบ 2 ปี และเป็นช่วงเวลาที่ “หมูเถื่อน” เข้ามาอาศัยประเทศไทยทำมาหากินกอบโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำ ว่ากันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศมูลค่านับ 10,000 ล้านบาท จากการแทรกแซงตลาดดัมพ์ราคาทำให้ตลาดผิดเพี้ยนไม่เป็นปกติ การปราบปรามของภาครัฐเริ่มแรกเป็นแบบทีเล่นทีจริง มาเริ่มจริงจังช่วงปลายปี 2565 ที่จับได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งที่ควรจะตัดไฟแต่ต้นลมสกัดจับที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นอันจบ แต่กลับยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ ทำให้สังคมเกิดคำถามคาใจคดีนี้ “ต้องมีอะไรในก่อไผ่”

การสอบสวนคดี “หมูเถื่อน” มีความคืบหน้าจนเห็นโอกาสในการจับกุมผู้กระทำผิดตัวจริงได้ ก็ต้องชื่มชมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ทำงานอย่างเป็นระบบและจริงจังแบบไม่ปล่อยให้ “คนผิด” ลอยนวล ระดมเจ้าหน้าที่มาช่วยขยายผลจากการจับกุมตู้สินค้าผิดกฎหมายตกค้าง 161 ตู้ ได้ของกลางหมูเถื่อน 4,500 ตัน เลี่ยงภาษี 460 ล้านบาท ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 และรับโอนคดีจากกรมศุลกากร มาดำเนินการต่อเนื่องจนถึงวันนี้ พบหลักฐานสำคัญเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด คือ 19 สายเรือ 18 บริษัทนำเข้า 2,385 ใบขนสินค้าปลอม ที่หมูเถื่อนสวมรอยสำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์และอาหารทะเลแช่แข็งเข้ามาอาละวาดในประเทศเป็นเวลานานนับปี

DSI ยังคงสืบสวนอย่างละเอียดได้หลักฐานสำคัญเพิ่มเติมต่อเนื่อง และเห็นว่าผู้กระทำผิดในคดีนี้ควรได้รับโทษตามกฎหมายสูงสุด จึงได้เชิญสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมหารือและสอบเส้นทางการเงินของบริษัทนำเข้าดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าคดีนี้ไม่จบแค่ผู้ร้ายถูกจับเข้าคุกเท่านั้นแต่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำผิดต้องถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดนโทษ 2 เด้ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา งานนี้ DSI หวังถอนรากถอนโคนผู้กระทำผิด “ไม่ใช่แค่ยึดของกลาง แต่ถึงหมดตัว”

อย่างไรก็ตาม มีหมูเถื่อนบางส่วนที่ถูก Re-export จากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมในไทยและลักลอบนำกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ไทยต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศที่มีการนำสินค้าผิดกฎหมายไปพักไว้ตามประเทศต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในการจับกุม

แม้วันนี้ “หมูเถื่อน” ที่ยังคงมีซุกซ่อนอยู่ในประเทศ แต่ก็ยากที่จะเปิดการขายกันแบบเย้ยกฎหมายเช่นที่ผ่านมา เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งรัฐมนตรีว่าการฯและรัฐมนตรีช่วยฯ ผนึกกำลังกันขับเคลื่อนการปราบปรามภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 สั่งการให้ปราบปรามสินค้าภาคการเกษตรที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ ให้ตรวจสอบเข้มงวด ทั้งระบบนำเข้า ห้องเย็น และสถานที่จำหน่าย อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับ “สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์” ในการทำหน้าที่สอดส่องและรับข้อมูลเบาะแสเพื่อเข้าถึงแหล่งที่มีการผิดกฎหมายทันที เพื่อกำจัดหมูเถื่อนให้หมดไปจากประเทศไทย

นอกจากนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้ากระทรวงเกษตรฯ ประกาศทำสงครามกับ “หมูเถื่อน” จะจัดการให้สิ้นซากภายใน 2 เดือน ก็นับได้ว่าหมูเถื่อนเข้าใกล้เส้นตายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ DSI ที่คาดว่าจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่สำคัญกระทรวงเกษตรฯ ยังยืนยันที่จะทำลายซากสุกรของกลางภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากเลื่อนมา 2 ครั้ง จากปัญหาทางเทคนิคและสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามมาตรฐานสากล และคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุดสำหรับประชาชนและสิ่งแวดล้อมรอบสถานที่ฝังทำลาย

วันนี้ผู้เลี้ยงหมูไทยยังคงบอบช้ำ จากราคาในประเทศตกต่ำต่อเนื่องมาหลายเดือน ซึ่งเป็นผลกระทบหลักมาจาก “หมูเถื่อน” ผู้เลี้ยงจึงหวังว่าการปราบปรามหมูเถื่อนจะสัมฤทธิ์ผลเร็วที่สุด เพื่อนำระบบการผลิตและการค้าเข้าสู่ภาวะปกติ ช่วยต่อชีวิตผู้เลี้ยงและสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนไทยอย่างยั่งยืน

โดย…สมิง วงศ์รามัญ ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์

© 2021 thairemark.com