Friday, 19 April 2024 - 10 : 50 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

อากาศร้อนระอุ!เจอบิลค่าไฟหนาวแน่ กกพ.ขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ 24.77สต./หน่วย

กกพ.เคาะปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) โดยจะจัดเก็บที่ 24.77 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายรวมเป็น 4 บาทต่อหน่วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเหตุขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนดันราคาพลังงานพุ่ง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)กกพ. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ อีก 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ ที่จัดเก็บอยู่ที่ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมไปคำนวณร่วมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.76 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่ายจริง 4 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.82% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้จะต้องปรับขึ้นมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เข้ามาซ้ำเติมราคาพลังงานก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่หลายๆประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ประสบกับ ปัญหาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยที่ลดลงจากการเปลี่ยนผ่านการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในช่วงปลายอายุสัมปทาน ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น ซึ่งแอลเอ็นจีตลาดโลกก็มีราคาแพง

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ดังนั้น กกพ.ต้องปรับสมมติฐานประมาณ การค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนต้นทุนจริง และเมื่อรวมกับวงเงินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับไว้ 38,900 ล้านบาท จะทำให้ค่าเอฟทีขึ้นสูงถึง 1.29 บาทต่อหน่วย แต่ กกพ. ได้ขอให้ กฟผ.แบกรับไว้ก่อนแล้วจะทยอยจ่ายคืนให้ในอนาคต ทำให้ค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ปรับขึ้นในอัตราดังกล่าว เพราะในข้อเท็จจริง หาก กกพ.บริหารบนหลักการขึ้นค่าเอฟทีแบบขั้นบันไดก็จะต้องขึ้นค่าเอฟทีงวดละ 47.3 สตางค์ ต่อหน่วย

“ขอยืนยันว่า กกพ.ได้เร่งบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อช่วยลดภาระค่าเอฟที เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศลาว การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มี ความพร้อมจ่ายไฟฟ้าและการที่รัฐบาลได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ก็ทำให้ราคาน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งได้นำมาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เพื่อเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม จึงสามารถทำให้ค่าเอฟทีลดลงมาได้ เป็นผลให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีในงวดนี้เพียง 1.39 สตางค์ต่อหน่วย”

สำหรับการบริหารต้นทุนค่าเอฟที หากมีการปรับขึ้นแบบขั้นบันไดในงวดถัดไปคือ ก.ย.-ธ.ค.นี้ กกพ.จะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 64.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย และงวด ม.ค.-เม.ย.2566 จะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 110.82 สตางค์ต่อหน่วย หรือขึ้นอีก 46 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินับจากนี้ไปมีการปรับลดลงไปจากสมมติฐานต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมที่ประเมินไว้ในขณะนี้ แต่หากราคาเชื้อเพลิงจากนี้ไปยังเฉลี่ยมีราคาสูงต่อเนื่อง ค่าเอฟทีในอีก 2 งวดข้างหน้าก็อาจต้องปรับขึ้นเช่นกัน

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าเอฟที แบบขั้นบันได ในส่วนของ กฟผ.ก็ยังคงแบกรับภาระไว้ 38,900 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ก็มีการบริหารจัดการไปส่วนหนึ่ง ด้วยการขออนุมัติเงินกู้คณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ กกพ.ก็ไม่อยากให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแบกรับภาระดังกล่าวไว้จนเกินกำลังและขีดความสามารถของหน่วยงานนั้นๆ ทำให้ กกพ.กำลังมองหาผู้ประกอบการอื่นๆมาช่วยแบกรับภาระ เช่นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าจะช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติและแอลเอ็นจีได้หรือไม่อย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติราคาพลังงานช่วงขาขึ้น กกพ.ขอเชิญชวนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน.

© 2021 thairemark.com