Monday, 23 December 2024 - 5 : 17 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ต้านบุหรี่ไฟฟ้า​-คง กม.ห้ามนำเข้า​ เครือข่ายควบคุมยาสูบยื่นหนังสือ“รัฐบาล – รัฐสภา”​เร่งบังคับใช้ กม.ด่วน ย้ำทุกฝ่ายต้องปกป้องเยาวชน

เครือข่ายควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายครู เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข สมาพันธ์​วิชาชีพแห่งประเทศไทย​ อาทิ แพทยสภา  สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา และสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น และเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพร่วมจัดเวที “รวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”พร้อมยื่นรายชื่อคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 592,727 รายชื่อ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ตัวแทนพรรคการเมือง และรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” รวมทั้ง “เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วนจริงจัง” เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทย จากบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดอย่างหนัก

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยอันตรายต่อสังคม หากมีเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแก้ไขก็คงทำได้ไม่สำเร็จ เพราะทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ทั้งภาคีเครือข่ายผู้ปกครอง นักเรียน พยาบาลต่างๆ ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขได้ส่วนการยื่นรายชื่อกว่า 500,000 รายชื่อกับรัฐบาล นายชัชชาติ ระบุว่า เรื่องที่จะยื่นคือเรื่องของการออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งมองว่าเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด และมักจะถูกยั่วยุได้ง่าย หากจะมีการนำเข้าอะไรก็ตาม  ต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เข้าถึงมือเด็ก หากแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ก็ไม่ควรจะให้มีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า 

ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่าจากข้อมูลปัจจุบันอัตราของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเยาวชนและผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า สิ่งสำคัญคือครอบครัวต้องให้ความ รู้และความเข้าใจถึง โทษของบุหรี่ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายซึ่งหากใช้บุหรี่ไฟฟ้า ไปในระยะเวลานานก็จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งระบบหัวใจระบบประสาทและระบบร่างกายส่งผลเสียต่อชีวิตและสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องเดินหน้ารณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง

ศ.สค.ร.ระพีพรรณ คำหอม นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ สุขภาพ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นการใช้สารเสพติดของเด็กและเยาวชน สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์จึงตระหนักเห็นความสำคัญ ที่ไม่สนับสนุนนโยบายทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้องตามกฎหมาย​ ​​เพราะเห็นว่า​มีผลกระทบต่อเด็ก​เยาวชนและสังคมในระยะยาว​ เช่นเดียวกับสมาพันธ์​วิชาชีพแห่งประเทศไทย​ อาทิ แพทยสภา  สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา และสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น ที่ขอสนับสนุนการไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ต้องการผลักดันการออกกฎหมาย​ 

ขณะที่นายกชกร ศุภกาญจน์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มป้องกันการติดยาเสพติด สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม.ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนโดยหลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายซึ่งในการรณรงค์ อาจจะต้องดูในหลายมิติเพราะกลุ่มบุคคลที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีหลากหลายปัจจัย ทั้งด้านครอบครัว การใช้สารเสพติด ซึ่งการรณรงค์ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครอง ที่ยังเข้าใจผิดว่าให้เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปสูบบุหรี่มวน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยในฐานะของนักสังคมสงเคราะห์ต้อง คิดว่าการดำเนินการเรื่องนี้ต้องครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการสร้างคุณภาพชีวิต และสร้างข้อมูลที่ถูกต้องให้กับครอบครัวและประชาชน

ด้านผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา อุปนายกทันตแพทย์สภา ระบุว่าอาชีพทันตแพทย์เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนจากการที่ลงพื้นที่ตรวจฟันกับเด็กและเยาวชนจะพบว่าปัจจุบันภัยที่น่ากลัวในกลุ่มของเด็กก็คือการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายมาก ทำให้ ในฐานะวิชาชีพทันตแพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนซึ่งเมื่อเด็กและเยาวชน ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็จะเกิดปัญหาทางสุขภาพโดยเฉพาะผลกระทบในช่องปากจนอาจจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งในช่องปากได้ในอนาคตจึงจำเป็นต้องเดินหน้ารณรงค์อย่างจริงจัง

ขณะที่ นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา รอง ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ศาลาการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยทีมสหวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ ของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครได้ร่วมเป็นหนึ่งในสายอาชีพในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าโดยย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของการนำไปสู่การใช้สารเสพติดได้ ปัจจุบันมีการล่อลวงเยาวชน และมีการปรับปรุงบุหรี่ไฟฟ้า ให้เยาวชนถูกมอมเมาได้ง่าย ทำให้วันนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันต่อต้านให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย 

ด้านตัวแทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) เชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้าเพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษทั้งต่อสุขภาพและคนรอบข้างซึ่งจะได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง จึงอยากให้เด็กและเยาวชนร่วมกันต่อต้านและไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

© 2021 thairemark.com