“GISTDA”สั่งยกเลิกส่งดาวเทียม ธีออส-2 ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ หลังพบปัญหาอุปกรณ์บางอย่าง ทำให้ทีมงาน-ประชาชนชาวไทยที่รอชมต่างผิดหวัง พร้อมประกาศเลื่อนไม่มีกำหนด
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศต่างพากันผิดหวัง หลังจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. “GISTDA”ประกาศยกเลิกการถ่ายทอดสดจากสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบของ GISTDA ประมาณ เวลา 07.30 น.เนื่องจากแผนส่งส่งดาวเทียมสำรวจโลก “ธีออส-2” (THEOS-2) ของไทยขึ้นสู่วงโคจร ที่ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้พบปัญหาบางอย่าง
โดยกำหนดการส่งดาวเทียม”ธีออส-2 ดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังก่อนหน้านี้ได้ส่ง ไทยโชต (Thaichote) หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS-1) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีพ.ศ. 2551
สำหรับชื่อ “THEOS” มาจาก คำย่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Earth Observation Satellite หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย พ้องกับภาษากรีก แปลว่า พระเจ้า
ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดสูงมาก ผลิตโดย บริษัท Airbus Defense ภารกิจ คือการเก็บข้อมูลโดยการถ่ายภาพพื้นผิวโลกของเราเสริมส่งกับดาวเทียมไทยโชตหรือ THEOS-1 ที่ส่งขึ้นไปเมื่อปีพ.ศ. 2551 โดย THEOS-2 นับเป็นอีกหนึ่งดาวเทียมสำรวจของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ประเทศในอนาคต นับว่าเป็นดาวเทียมของประเทศไทย ดวงที่ 7 ที่ทำการปล่อยโดย Arianespace ซึ่งเป็นบริษัทรับบริการปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรทุกรูปแบบ
จรวดของ Arianespace ที่จะนำ THEOS-2 สู่วงโคจรในอวกาศ ขึ้นโคจรมีชื่อว่า Vega โดยใช้ระบบ Rideshare คือการส่งขึ้นไปพร้อมกันกับภารกิจอื่นอีก 12 ภารกิจ น้ำหนักเพย์โหลดรวมทั้งหมด 1241.7 กิโลกรัม และจะนำพาขึ้นไปยัง วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit : SSO) ในวงโคจรประเภทนี้ ดาวเทียมจะสามารถโคจรผ่านขั้วโลก ณ ตำแหน่งเดิมเสมอเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ นั่นทำให้ดาวเทียมสามารถโคจรผ่านตำแหน่งเดิมที่เวลาท้องถิ่นเดิมตลอด เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องทำการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามจากหลังจากทีมงานตรวจสอบ‘THEOS-2’ก่อนปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศพบปัญหาอุปกรณ์บางอย่างเพื่อป้องกันความผิดพลาดจึงประกาศยกเลิกภารกิจดังกล่าวและเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด