Sunday, 22 December 2024 - 10 : 19 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ปิดฉากเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 ร่วมประกาศ 8 เจตนารมณ์ ดันเศรษฐกิจชุมชนวิถีใหม่ สังคมผู้สูงวัยคุณภาพ

ปิดฉากเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 สานพลัง-สร้างนวัตกรรม-สร้างสังคมสุขภาวะ ร่วมประกาศ 8 เจตนารมณ์ ดันเศรษฐกิจชุมชนวิถีใหม่ สังคมสูงวัยคุณภาพ ความมั่นคงทางอาหาร จัดการภัยพิบัติ สู่สังคมสุขภาวะที่เท่าเทียมและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2566 ในงานเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 7 สสส. นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่าย เข้าร่วม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนสุขภาวะชุมชน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเชื่อว่าความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเป็นทุนทางสังคม และศักยภาพให้กับทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกตำบล เป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญคือ 1. สานพลัง ทั้ง 4 สาน 1. พลังพื้นที่ 3,526 ตำบล 2. พลังผู้นำ 397,771 คน 3. พลังนวัตกรรม ทั้งเชิงระบบ กระบวนการ เทคนิค 4. องค์กรเป็นโครงข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ องค์กรร่วมพัฒนาเอกชน 2. สร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนเป้าหมายหลัก 7 ประเด็น ยาสูบ แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงอื่น 3. สร้างสังคมสุขภาวะ นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่สอดประสานกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ

“ขอชวนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น ร่วมเดินทางสู่ทศวรรษที่สามของ สสส. โดยเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ได้แก่ การสร้างรูปแบบชุมชนเข้มแข็งที่รองรับชุมชนที่หลากหลายกว่าเดิม ทั้งความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ระดับต่างๆ จากฐานหลักที่ตำบลในปัจจุบัน สู่หมู่บ้าน อำเภอจังหวัด มหานคร พัฒนาหลากหลายทางเข้า โดยอาจมี “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” นอกเหนือจากผู้นำท้องถิ่นท้องที่ก็ได้ ถ้ามีความเหมาะสม “กลไกสนับสนุน” ปรับตามสังคมที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตใหม่ ปัญหาสุขภาวะใหม่รวมถึงดึงคนรุ่นใหม่ร่วมเป็นแกนนำ และโดยปรับตามเทคโนโลยี ดิจิตอล และท้ายสุด ด้วยการพิสูจน์ถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพจากชุมชนที่เข้มแข็งที่วัดได้จากระบบฐานข้อมูลที่วางไว้” ดร.สุปรีดา กล่าว

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ขอร่วมกันสานต่ออุดมการณ์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 บูรณาการทำงานทั้งภายในองค์กร และเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อน และผลักดันให้มีการดำเนินการ ครอบคลุม 8 ประเด็นในการสานพลังร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน 26 เป้าหมาย 1. ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะที่เท่าเทียม 2. ร่วมสร้างเศรษฐกิจชุมชนวิถีใหม่ สนับสนุนการรวมกลุ่ม กลุ่มอาชีพ 3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ สร้างข้อตกลงของชุมชนท้องถิ่นในการตั้งรับปรับตัว จัดทำแผนรับมือจัดการภัยพิบัติ 4. วิวัฒน์ระบบสุขภาพ กระจายอำนาจสู่ชุมชน 5. ร่วมสร้างคุณภาพสังคมสูงวัย 6. ร่วมสร้างระบบอาหารชุมชน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร 7. ร่วมสร้างสังคมเกื้อกูลเพื่อดูแลกลุ่มจิตเวชและกลุ่มเปราะบาง 8. ร่วมสร้างสุขภาวะเขตเมือง ผลักดันให้มีการสนับสนุน และสานกันเป็นพลังของชุมชนท้องถิ่น เข้าสู่วาระการพัฒนาในทุกระดับเพื่อตอบโจทย์ประเทศ

© 2021 thairemark.com