Sunday, 5 January 2025 - 4 : 26 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

หมูเถื่อนหมดอายุ … หายนะคนไทย

เรื่องราวหมูเถื่อนเป็นมหากาพย์ยาวนานมากว่าขวบปี และปะทุเป็นกระแสให้สังคมตื่นตกใจครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 66 เมื่อกรมศุลกากรยอมรับว่า พบตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลถึง 4 ล้าน 5 แสนกิโลกรัมตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบังถึง 161 ตู้ และการสืบสวนสอบสวนเพื่อสาวไปให้ถึงต้นตอผู้บงการนำเข้าหมูเถื่อนยิ่งทวีความตื่นเต้นขึ้นอีก เมื่อ DSI รับเป็นคดีพิเศษ พร้อมแอ็คชั่นเร็ว เข้าเปิดตู้ตรวจสอบของกลางทันทีภายในไม่กี่วันที่รับเรื่อง ทำให้สังคมได้เห็นชื่อบริษัทผู้นำเข้าที่มีเอี่ยวกับคดีนี้แล้วถึง 11 บริษัท

การเปิดตู้ของกลางเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 66 ที่ผ่านมาสะท้อนการทำงานของ DSI ที่รวดเร็ว แม่นยำ และจริงจัง คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะสามารถเปิดตู้ได้ทั้งหมด ทำให้ผู้แทนเกษตรกรถึงกับเอ่ยปากว่าไม่ต้องห่วงหมูเถื่อน ณ แหลมฉบังอีกแล้ว เพราะมันอยู่ในความดูแลของ DSI ที่สามารถใช้วิธีพิเศษทะลุทะลวงไปจนถึงผู้บงการ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลแค่ไหนก็คงนั่งไม่ติดเก้าอี้ แต่ที่ยังน่าห่วงคือที่ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือปากน้ำระนอง ท่าเรือจังหวัดสตูล ท่าเรือสงขลาและอีกหลายแห่ง รวมถึงด่านชายแดนทั่วประเทศ เพราะหมูเถื่อนที่แหลมฉบังนี้เป็นเพียง 3-5% ของหมูเถื่อนที่ระบาดอยู่ในประเทศเท่านั้น

อีกเรื่องที่น่าห่วงไม่น้อยก็คือการพบว่าหมูเถื่อนในตู้ของกลางนั้นมีไม่เต็มตู้ เพราะโดยปกติแล้วการขนส่งสินค้าข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากบราซิล อาร์เจนตินา เยอรมนี ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูง แทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้นำเข้าจะไม่ใช้ทุกตารางนิ้วในตู้ขนส่งสินค้าให้คุ้มค่า และคงไม่ง่ายนักที่จะบอกว่า เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบ น้ำหนักและจำนวนหีบห่อที่แจ้งไว้ในเอกสารนำเข้า เทียบกับของจริงที่มีในตู้ได้ เพราะที่ผ่านมาประเภทสินค้าที่สำแดงในเอกสารว่าเป็นปลาแช่แข็ง แต่เปิดออกมากลับกลายเป็น “หมูเถื่อน” ก็มีให้เห็นกันอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากของกลางหายไปจากพื้นที่อารักขาของกรมศุลกากรจริงๆ คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และคงต้องตามหากันยกใหญ่ว่า ของกลางหายไปไหน หายไปด้วยวิธีใด

ลองคิดดูว่า หากของกลางดังกล่าวหายไป เพราะมีการยักย้ายถ่ายเทออกไปจำหน่ายปะปนกับหมูไทยในท้องตลาด จะยิ่งเป็นหายนะอีกข้อที่น่าสะพรึง เพราะหมูเถื่อนเหล่านี้เป็นหมูที่หมดอายุตั้งแต่ปีที่แล้ว

ธรรมชาติของคนไทยจะบริโภคหมูชิลด์หรือหมูแช่เย็นที่ชำแหละกันวันต่อวัน ไม่นิยมบริโภคหมูแช่แข็ง แต่หมูเถื่อนเป็นหมูค้างปี ทำการชำแหละมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี แช่อยู่ในตู้เย็นที่ไม่รู้ว่าอุณหภูมิต่ำพอที่จะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียต่างๆได้หรือไม่ การแทรกตัวเข้าตลาดของหมูกลุ่มนี้จึงมักออกมาในรูปของหมูสไลด์ส่งเข้าตามร้านอาหาร หรือโรงงานแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เท่านี้ก็แทบไม่มีทางดูออกเลยว่า กำลังส่งหมูหมดอายุให้คนไทยกิน ซึ่งก็คงต้องขึ้นอยู่กับ “คุณธรรมในใจ” ของผู้ประกอบการทุกๆขั้น ในห่วงโซ่การผลิตอาหารว่า จะคำนึงถึงกำไรของตนหรือห่วงใยในสุขภาพของลูกค้ามากกว่ากัน โปรดอย่าลืมว่าครอบครัว-ลูกหลานและคนที่ท่านรักนั่นล่ะที่เป็นคนบริโภคหมู

นอกจากนี้ หมูเถื่อนบางกล่องก็ยังสุ่มตรวจแล้วพบเชื้อซาลโมเนลลาที่อันตรายต่อผู้บริโภค รวมถึง ยังเคยพบเชื้อ ASF ที่อันตรายสุดๆ กับสุกรทุกตัว ดังนั้น สิ่งที่ต้องรอคอยจากนี้ คือการทำลายหมูเถื่อนครั้งประวัติศาสตร์ 4,500 ตันจากทั้ง 161 ตู้ ที่ “กรมปศุสัตว์” จะต้องทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการทำลายตามหลักวิชาการโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และปิดช่องการยักย้ายถ่ายเทหมูเถื่อนออกสู่ตลาด ซึ่งเท่ากับเป็นการป้องกันสุขภาพของคนไทย ให้ปลอดภัยจากหมูเถื่อนหมดอายุและปนเปื้อนเชื้อโรคไปด้วยในตัว

โดย…ปิติ ปัฐวิกรณ์

© 2021 thairemark.com