หากเอ่ยถึง “พระกรุท่ากระดาน”บรรดาเซียนพระจะรู้จักกันหมด ปัจจุบันมีทั้งกรุเก่าและกรุใหม่ เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง ครั้งแรกพบที่ “กรุถ้ำลั่นทม” ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีต่อมา วัดบน วัดกลาง วัดล่าง ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ ถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง พอน้ำลดลงจึงเห็นพระเจดีย์ปลายนาสวน พังทลาย พบพระท่ากระดานจำนวนมาก เรียกกันว่า “กรุวัดต้นโพธิ์” หรือพระท่ากระดานกรุใหม่
“วัดท่ากระดาน” หรือเมืองหน้าด่านท่ากระดาน ห่างจากถ้ำลั่นทมประมาณ 2 กิโลเมตร
จุดกำเนิดพระท่ากระดาน เริ่มจากเจ้าเมืองท่ากระดานกับชาวบ้านมาให้ “ฤๅษีตาไฟ” ซึ่งอยู่ในถ้ำลั่นทม ปลุกเสกเครื่องรางของขลังเพื่อไปสู้รบกับข้าศึก ฤๅษีตาไฟ ได้สร้างพระท่ากระดานเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง เทลงในบล็อกดินเผา นำไปแจกให้แก่ทหารของเจ้าเมืองท่ากระดาน เพื่อใช้สู้รบกับข้าศึก แล้วฟันแทงไม่เข้า พระท่ากระดานจึงได้รับฉายา ว่า ‘ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง’ ที่เรียกว่าถ้ำลั่นทมเพราะว่ามีต้นลั่นทมอยู่หน้าปากถ้ำ 1 ต้นพุทธคุณที่เป็นที่เลื่องลือของพระท่ากระดาน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ความอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด มีตัวอย่างที่บันทึกไว้ในหนังสือที่อยู่ในพิพิธภัณท์ เช่น 1.นายอำเภอบางกอกน้อยในสมัยก่อนนั้น มีการทดลองพระท่ากระดานที่วัดอมรินทร์ เขต บางกอกน้อย โดยนัดให้ชาวบ้านนำพระเครื่องมาให้เค้าทดลองยิง หากเค้ายิงไม่ออก 3 นัด จะขอเช่าในราคา 1,000 บาท
วันหนึ่งนายอำเภอขอให้ชายชราปลดพระท่ากระดานในคอให้เค้าทดลอง ครั้งแรกใส่พระลงในกระป๋องนม แขวนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ ระยะห่าง 3 เมตร แล้วยิงด้วยปืนพกออโตเมติค นัดแรกกระสุนไม่ออก เค้าจึงบรรจุกระสุนนัดใหม่ใส่แล้วพระลงในกระป๋องนมเหมือนเดิมแต่เหลือระยะห่างแค่ช่วงแขนเท่านั้น แล้วลั่นไกครั้งที่ 2 ยังคงได้ยินแต่เสียงไกไม่มีกระสุนออกเช่นเดิม ครั้งที่ 3 นายอำเภอเอ่ยปากขอขมาพระเสียงดัง แล้วบรรจุกระสุนนัดที่ 3 คราวนี้ได้ยินเสียง “แช็ก” ท่ามกลางความตะลึงของทุกคนที่อยู่ในที่นั้น นายอำเภอขอเช่าพระจากชายชราแต่ชายชราไม่ให้ ให้ทดลองยิงเท่านั้น พระท่ากระดานองค์นั้นมีลักษณะทรวดทรงค่อมๆหรืองอเล็กน้อย จึงทำให้พระพักตร์ก้มง้ำมากกว่าธรรมดาซี่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นมาแต่ในกรุ เนื้อตะกั่วเถื่อน สนิมแดงสึกหรอบางส่วน แต่พระพักตร์ยังสมบูรณ์ชัดเจน
2.กรณีของ พล.ต.ท. ประชา บูรณธนิต ในคืนวันที่ 2 ต.ค.2495 นายพลประชาพร้อมภรรยาเดินทางจากนครปฐมเข้ากรุงเทพโดยรถยนต์ มี.ส.ต.ต. ชาญ เป็นคนขับ ขณะที่รถวิ่งมาถึงสามพรานประมาณ2ยามเศษ มีคนร้าย6-7คนใช้ไม้สูงขวางถนน ทำให้ต้องหยุดรถทันที คนร้ายกรูเข้ามาเอาปืนขู่ นายพลชักปืนยิงต่อสู้จึงเกิดการยิงต่อสู้กันระยะเผาขน คนร้ายถูกกระสุนหลายนัดและหลบหนีไป กระสุนถูกนายพล3จุด ที่หัวเข่า หน้าแข้งและแขน แต่ปรากฎเพียงรอยผิวหนังฟกช้ำ ส่วนภรรยาไม่ถูกกระสุนแม้แต่นัดเดียว แต่คนขับถูกกระสุนหลายนัดเสียชีวิต ในคืนเกิดเหตุนายพล ประชา ห้อยพระท่ากระดานอยู่ในคอ
และ 3.เหตุการณ์ปาฎิหารย์เกิดขึ้นกับ อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์เอง เมื่อ10กว่าปีที่แล้ว ในงานศพที่เขตน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น จ.กาญจนบุรี มีคนร้ายลอบยิง อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์ด้วยปืนลูกซอง เข้าที่หัวหล่นคาโต้ะ แต่อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์ไม่เป็นไรเลย แม้แต่เลือดซักหยดก้อไม่มี ในขณะนั้น อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์แขวนพระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์เช่นกัน และนี่คือปาฏิหารย์ของพระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์
สำหรับพระกรุถ้ำลั่นทม “อ.โกร่งศรีสวัสดิ์” เจ้าของ “แพพี่โกร่ง รีสอร์ท”อยู่ที่เขี่อนศรีนครินทร์ ต.ท่ากระดานอ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เจ้าของฉายา”เจ้ากรมพระท่ากระดาน” ได้เล่าให้ฟังว่า พระท่ากระดาน มีประวัติการสร้างอย่างชัดเจน เมื่อประมาณ 600-700 ปีสมัยก่อนนักรบแม่ทัพนายกองต้องมีพระกระดาน กรุศรีสวัสดิ์ติดตัวออกศึกพระท่ากระดานจึงได้รับการขนานนาม ว่า “เป็นขุนศึกแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง” ตนเองเริ่มสนใจแสวงมาสะสมกว่า 40 ปีได้มาจากคนท้องถิ่น อ.ศรีสวัสดิ์ คนมอญบ้าง เป็นคนพม่าบ้าง ตั้งแต่ยังไม่สร้างเขื่อนครีนครินทร์ สมัยนั้นพระท่ากระดานยังไม่มีราคาเป็นเหมือนพระแก้บนอยู่ข้างโบสถ์ ใต้ต้นโพธิ์ ชาวบ้านเอามาแลกเหล้าขาวไปกิน แลกยาตั้งไปมวนกับใบตองสูบ
“ตนเองได้พระกรุนี้มาส่วนหนึ่งและยังได้มาจากเจ้าของเหมืองแร่ที่เลิกสัมปทานไปแล้วก่อนสร้างเขี่อนศรีนครินทร์ไว้อีกส่วนหนึ่ง ปัจจุบันจึงมีพระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์ เป็นจำนวนมากที่สุด จึงเป็นที่มาของฉายาเจ้ากรมพระท่ากระดาน และเป็นผู้ชำนาญการพระท่ากระดาน รู้จักกันอย่างกว้างขวางในการตัดสินการจัดประกวดพระเครื่องในที่ต่างๆ จนถึงปัจจุบันนี้” อ.โกร่งระบุ
สำหรับประวัติ “วัดท่ากระดาน” ตั้งอยู่ใน ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เป็นสถานที่อยู่บริเวณหน้าถ้ำทางตอนเหนือของเมืองท่ากระดานเก่าขึ้นไปตามลำน้ำซึ่งเดิมเป็นวัดเก่าแก่ เนื่องจากมีศาสนวัตถุที่ปรักหักพังและพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก และจากวัตถุโบราณที่พบเช่น บาตรขนาดเขื่อง เตาดินเก่าๆหลายเตา ที่สำคัญ คือ ปรากฏมีสนิมแดงตกอยู่เรี่ยราดบริเวณเตาและพบพระท่ากระดานทุกๆ พิมพ์อีกด้วย เป็นแหล่งสร้างพระท่ากระดาน เมืองท่ากระดานมีวัดสำคัญ 3 วัด คือ วัดเหนือ (วัดบน)วัดกลาง (ปัจจุบันชื่อ วัดท่ากระดาน) และวัดล่าง
วัดท่ากระดาน หรือ วัดกลาง อันเป็นวัดสำคัญ 1 ใน 3 วัดของ “เมืองท่ากระดาน” เมืองเก่าแก่เมืองเดียวริมแม่น้ำแควใหญ่ที่มีความสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคียงคู่กับเมืองกาญจนบุรีเก่าและเมืองไทรโยค คือ เป็นเมืองที่มีเจ้าปกครอง อีกทั้งเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องสู้รบกับกองทัพพม่าที่ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ในทุกคราว แต่ปัจจุบันลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์ จึงถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ.2438 และลดฐานะเป็นหมู่บ้านชื่อ “บ้านท่ากระดาน” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานศึกษา โรงเรียนชุมชนท่ากระดาน และตำบล อยู่ในเขตการปกครองของ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
ต่อมา พ.ศ.2495 ได้มีการขุดค้นหาโบราณวัตถุกันเป็นการใหญ่ และได้พบพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงที่วัดทั้งสามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่วัดกลางซึ่งเรียกชื่อเต็มว่า “วัดท่ากระดาน” นั้นได้ปรากฏพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงที่สนิมแดงงามจัดและปิดทองมาแต่ในกรุทุกองค์ กอปรกับวัดนี้ตั้งอยู่ในส่วนกลางของเมืองท่ากระดานเก่าพอดี ชาวบ้านจึงเห็นเหมาะสมที่จะเรียกพระพิมพ์นี้ตามชื่อวัดว่า “พระท่ากระดาน”
สำหรับ”พระท่ากระดาน”มีพุทธลักษณะเค้าพระพักตร์เคร่งขรึมน่าเกรงขาม แข้งเป็นสัน และพระหนุแหลมยื่นออกมา ลักษณะเหมือน “พระอู่ทองหน้าแก่” อันเป็นพุทธศิลปะสมัยลพบุรี และด้วยอายุการสร้างเกินกว่า 500 ปี พระท่ากระดานส่วนมากจึงเกิด สนิมไข และสนิมแดง ขึ้นคลุมอย่างหนาแน่นและส่วนใหญ่จะลงรักปิดทองมาแต่เดิม ดังนั้นข้อพิจารณาเบื้องต้นในการศึกษา”พระท่ากระดาน” ก็คือ สภาพสนิมไขสนิมแดง และรักเก่า ทองเก่า นั้นเอง