เมื่อวันที่ 14 มิ.ย 2566 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ นายแพทย์ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคเห็ดว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะเห็ดธรรมชาติ มีทั้งที่บริโภคได้และบริโภคไม่ได้ ซึ่งขณะนี้จังหวัดอำนาจเจริญมีรายงานพบผู้ป่วยสงสัยจากการรับประทานเห็ดพิษเข้าไปมี 2 รายคือ ที่อำเภอเมือง 1 ราย และที่อำเภอหัวตะพาน 1 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
สำหรับเห็ดพิษที่พบบ่อยในช่วงนี้ ได้แก่ เห็ดระโงกหิน และเห็ดระโงกดำพิษ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน หรือเห็ดไส้เดือน ที่สามารถรับประทานได้ ,เห็ดถ่านเลือด จะมีความคล้ายคลึงกับเห็ดถ่านใหญ่ และเห็ดหมวกจีนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน อาการที่เกิดจากการกินเห็ดพิษ ส่วนใหญ่จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย มีอาการตับและไตวาย และอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันการเกิดอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ จึงขอแนะนำการกินเห็ดอย่างปลอดภัยดังนี้ 1.ไม่นำเห็ดป่าที่ไม่เคยรับประทาน หรือไม่มั่นใจมาทำอาหารเด็ดขาด 2.ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องทำให้สุกมากๆ 3.ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคตับ ไต หรือสุขภาพไม่เข็งแรง ควรรับประทานเห็ดในปริมาณน้อยๆ 4.ไม่ควรนำเห็ดจากสวนยางพารา ป่ามัน ที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชปริมาณสูง มารับประทาน 5.การใส่ข้าวสาร หัวหอม ช้อนเงินในแกงเห็ด ไม่สามารถทดสอบพิษได้
6.หากพบผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ ต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ (เกลือ 3 ช้อนชาต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว)แล้วล้างคอให้อาเจียนออกมามากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ หลังจากนั้นให้กินผงถ่าน โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหารแล้วรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาลพร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาอาการและส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษทางห้องปฏิบัติการ
ภาพข่าว/นายทิพกร หวานอ่อน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญ รายงาน