โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ดึงอาสาสมัคร 4 ชุมชน ร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโดยใช้แพลตฟอร์ม Social Telecare สนับสนุนการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ และเชื่อมโยงสหวิชาชีพ
ภาคีเครือข่ายทางการแพทย์ และสหวิชาชีพร่วมกันผลักดันโครงการพัฒนาเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยใช้ Platform Social Telecare ใน 12 พื้นที่ต้นแบบ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำหรับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้เข้าร่วมโครงการ โดยเลือกเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ไม่พร้อม
นางสาวพฤกษาชล เหล่าสกุลศิริ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ดูแลกลุ่มผู้ป่วยเปราะบางทั้ง 3 กลุ่ม โดยนำข้อมูลการประเมินปัญหาทางสังคมของผู้ป่วยบันทึกลงไปในระบบ ทำให้เห็นภาพรวมของสภาพปัญหา ความต้องการ และรับทราบข้อมูลการช่วยเหลือ รวมถึงจำนวนของผู้ป่วยทั้งที่ได้รับการแก้ไขปัญหาทางสังคม และยังไม่ได้รับการแก้ไข Platform Social Telecare เป็นประโยชน์ต่อนักสังคมสงเคราะห์อย่างมากในการออกแบบบริการความช่วยเหลือทางสังคม หรือจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ ประสานส่งต่อและให้ความช่วยเหลือ ทำงานร่วมกับเครือข่ายสหวิชาชีพทำได้รวดเร็ว สามารถรักษาความลับของผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษได้
นางสาวดวงใจ ดูเบ นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี มีการจัดตั้งคลินิกราชพฤกษ์สูงวัยใส่ใจสุขภาพ เพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างครบวงจร ส่วนกลุ่มผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีคลินิกสุขภาพดูแล และมีคณะกรรมการดูแลสตรีตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมีผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพเข้ามาช่วยกันดูแล ซึ่งการนำ Platform Social Telecare มาใช้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถให้ข้อมูลแก่นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างรวดเร็ว โดยสามารถจัดชั้นความลับของข้อมูลได้
โครงการฯนี้ ทำให้เห็นถึงศักยภาพของภาคีเครือข่ายอาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนพัชรัฐ ชุมชนแสงอรุณ ชุมชนสุขอนันต์ และชุมชนดารุ้ลอะมาน ในการทำงานระดับพื้นที่ ประสานงานกับนักสังคมสงเคราะห์ และทีมสหวิชาชีพได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและรักษาความลับได้ อย่างไรก็ตามการใช้ Platform Social Telecare นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องพัฒนาสมรรถนะตนเองให้มีความรู้เรื่องของเครื่องมือหรือแบบประเมินปัญหาทางสังคม ก่อนจะกระจายความรู้การใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ไปสู่อาสาสมัครสาธารณสุขอาสาสมัครชุมชน (อสส.) เพื่อให้ใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้อง แล้วนักสังคมสงเคราะห์นำข้อมูลเข้าระบบ Platform Social Telecare เพื่อประมวลผล วิเคราะห์ นำข้อมูลไปใช้งานต่อไป
ขณะที่ ดร.ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ รพ.ธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการประจำโครงการ กล่าวถึงข้อสังเกตจากการลงพื้นที่ทำงานของทีมนักสังคมสงเคราะห์และสหวิชาชีพว่า พื้นที่เป้าหมายของโครงการมีประเด็นของวัฒนธรรม กระแสการเมืองในพื้นที่ แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของเครือข่าย การทำงานกับกลไกในพื้นที่ที่ใกล้ชิด ช่วยขับเคลื่อนการทำงานได้เป็นอย่างดี จากบทเรียนการทำงานกับกลุ่มผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งมีความซับซ้อน เปราะบาง มีความแตกแตกต่างของประเด็นปัญหา การใช้ Platform Social Telecare จะช่วยการลดปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ได้ สามารถทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักสังคมสงเคราะห์