กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนส่งต่อการให้ไม่สิ้นสุด กับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” ร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์ ที่คัดสรรด้วยฝีมือและพรสวรรค์ของน้องๆ ทุนเสมอภาคและเพื่อนๆ โรงเรียนนานาชาติ จากโครงการ Equity-Partnership Season 4 ผ่านช่องทาง Shopee ผู้จัดการกองทุนฯ เผยความสำเร็จที่ผ่านมามีกระแสตอบรับจากนักช็อปเกินคาด พร้อมยกระดับความร่วมมือระดับ Global เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปิดโอกาสนักศึกษาได้เรียนรู้สร้างงานสร้างอาชีพแต่เยาว์วัย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จับมือกับ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ ช้อปปี้ (Shopee) และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ เดินหน้าแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” โดยได้สานต่อจากแนวคิดของตลาดวาดฝันที่นำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนทุนเสมอภาคมาเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2565 จนถึงเทศกาลต้อนรับปีใหม่ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกจากนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. 12 โรงเรียน และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ 7 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network 4) ที่สานต่อภูมิปัญญาชุมชน โดยได้จับมือกันพัฒนางานหัตถกรรมต่างๆ ออกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ
“กสศ. มีความตั้งใจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง หากด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถต่อยอดและพัฒนาพรสวรรค์ในตัวเองได้ ซึ่งโครงการนี้ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้นในสามปีแรก ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนและภาคประชาชน และยังสร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียนเครือข่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวย้ำเติมว่า โครงการดังกล่าวคือตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลงมือทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วน ในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ เป็นคุณค่าของ ALL FOR EDUCATION ปวงชนเพื่อการศึกษา ที่สำคัญยังช่วยเสริมทักษะที่สำคัญต่อโลกยุคปัจจุบันใน 3 ด้าน ได้แก่
1.ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง 2.ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในยุคศตวรรษที่ 21 และ 3.ทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จากการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน และภายใต้แนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่สังคมแห่งความร่วมมือและมิตรภาพวันนี้ ทาง กสศ. และภาคีเครือข่าย ได้เล็งเห็นความสำคัญส่วนนี้
สำหรับโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาออกมามีการตอบรับจากผู้ในการสนับสนุนเป็นอย่างดี บางผลิตภัณฑ์สามารถสร้างรายได้นับแสนบาท
อย่างไรก็ดีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในอนาคตต่อไปโครงการความร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติและเครือข่ายโรงเรียนไทย จะสามารถพัฒนาในมิติอื่น ๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกมาก อาทิในเรื่องของห้องเรียน ครู ห้องแล็ปวิทยาศาสตร์ การทัศนศึกษา หรือการการมีเน็ตเวิร์คออนไลน์ร่วมกัน ซึ่งทาง กสศ.จะมีการหารือกับทางโรงเรียนนานาชาติว่าจะมีโครงการอะไรที่จะสามารถลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีก
“จากความสำเร็จของโครการดังกล่าว ขณะนี้มีโรงเรียนนานาชาติในอาเซียน จากสิงคโปร์สนใจที่จะเข้าร่วม รวมถึงบริษัทแม่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีประเทศอังกฤษก็สนใจที่จะส่งทีมเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าเป็นโครงการดีที่จะช่วยเหลือให้เยาวชนลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ซึ่งเป็นความหวังของหลาย ๆ ฝ่ายที่ต้องการบรรลุความสำเร็จร่วมกัน จึงอยากเชิญชวนให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมตามความถนัดของตัวเอง และช่วยกันมองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆกลับสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตของพวกเขาได้” ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับในซีซั่น 4 นี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า 12 ผลิตภัณฑ์ อาทิ โรงเรียนเพียงหลวง 16 จังหวัดเชียงรายกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ได้พัฒนากระเป๋าผ้าใยกัญชง ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ มีความเหนี่ยว ทนทาน แบบคล้องแขน ตัวกระเป๋ากว้าง 7 นิ้ว สูง 8 นิ้ว สายกระเป๋าหนัง PVC สีน้ำตาลกระเป๋ามี 2 สี : ผ้าทอสีพื้น, ผ้าทอลาย โรงเรียนบ้านแม่โต๋ จังหวัดเชียงใหม่ กับโรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า น้องๆสองโรงเรียนได้พัฒนาเสื้อทอมือปักลวดลายสีสันจากขุนเขาตกแต่งด้วยลูกเดือยธรรมชาติมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อผ้านิ่มสวมใส่สบาย สีไม่ตก ดีไซน์เก๋เอวลอย
ขณะที่โรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา จังหวัดสุรินทร์ กับโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ พัฒนาหมวกทรง Bucket ขนาด 55-58 ซม. มีสายคล้อง ตกแต่งขอบหมวกด้วยการแซวเส้นไหมหลากสี /หมอนอิงผ้าลายลูกแก้ว ขนาด 40*40 ซม. มี 2 สี สีดำและสีครีม มีการแซวเส้นไหมรูปหน้าช้างกลางหมอน ตกแต่งด้วยพู่เส้นไหม 4 มุม
สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 มีโรงเรียนในเครือข่าย กสศ. เข้าร่วมจำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนเพียงหลวง 16 อ.เทิง จ.เชียงราย 2.โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จ. เชียงราย 3.โรงเรียนบ้านขุนกลาง จ. เชียงใหม่ 4. โรงเรียนบ้านแม่โต๋ จ. เชียงใหม่ 5.โรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจ จ. เพชรบูรณ์ 6.โรงเรียนศรีโพนทองวิทยา จ. นครพนม 7.โรงเรียนบ้านสามขามิตรภาพที่ 3 จ. มุกดาหาร 8.โรงเรียนบ้านแกใหญ่ จ. สุรินทร์ 9.โรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา จ. สุรินทร์ 10.โรงเรียนบ้านโนนกุ่มมิตรภาพที่ 2 10.จ. นครราชสีมา 11. โรงเรียนวัดหุบกระทิง จ. ราชบุรี 12. โรงเรียนบ้านหนองธง จ. พัทลุง
พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติที่เข้าร่วมโครงการ 7 โรงเรียน ได้แก่ 1 โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี 2. โรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า 3. โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ 4. โรงเรียนสาธิตประสานมิตร หลักสูตรนานาชาติ 5. โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ 6. โรงเรียนนานาชาติรักบี้ 7. โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์กรุงเทพ
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะจัดจำหน่ายแบบพิเศษสุด (Exclusive) ผลิตภัณฑ์ละ 50 ชิ้นเท่านั้น บนแพลตฟอร์ม Shopee โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ https://www.eef.or.th/equity-partnerships-school-network-season-4/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Shopee ได้จากทั้ง Play Store และ Apple Store โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะนำกลับคืนให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด สพฐ.โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเพื่อให้เด็กๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต หรือร่วมสนับสนุนทุนต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับน้องๆ ได้ที่ https://www.eef.or.th/donate/ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า