Sunday, 10 November 2024 - 10 : 07 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

หมอแนะฉีดวัคซีนโควิด 4 เข็ม ป้องป่วยรุนแรง-ตาย 100% เผย กลุ่ม 608 ยังเสียชีวิต

ศบค.ชี้แนวโน้มป่วยหนัก “โควิด” ลดลงช้าๆ กลุ่ม 608 ยังเสียชีวิต ย้ำฉีดเข็มกระตุ้น ป้องป่วยหนัก รุนแรงได้ ผลศึกษาพบเข็ม 4 ป้องรุนแรง ตาย 100% พร้อมแนะเข้าระบบรักษาหลังตรวจเจอ 2 ขีด

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ารักษาใน รพ. 2,004 ราย กำลังรักษา 15,990 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 736 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 355 ราย

ถือว่าแนวโน้มลดลงช้าๆ ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราครองเตียงทั่วประเทศ 12.8% กลุ่มหลักที่มีความเสี่ยงสูงยังเป็นกลุ่ม 608 ยังต้องรับวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

สำหรับผู้เสียชีวิตมี 25 ราย ทิศทางไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มเสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608 วันนี้ถึง 100% อายุ 58-101 ปี ค่ากลางอายุ 80 ปี ประวัติการรับวัคซีนผู้เสียชีวิตมี 56% ไม่ได้รับวัคซีน 24% ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น และ 20% ฉีดเข็มสามแล้วแต่นานเกิน 3 เดือน

ขณะนี้ผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นในเข็มสามขึ้นไปอยู่ที่ 50.7% ส่วนอายุ 5-11 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรไปฉีดเช่นกัน พบว่าฉีดครบ 2 เข็มเพียง 47.1% ตอนนี้เปิดเทอมแล้วก็ขอให้พาบุตรหลานไปรับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน จะช่วยลดภาวะมิสซี เกิดหลังจากเด็กติดเชื้อโควิดได้

พญ.สุมนีกล่าวว่า คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลดูประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ใช้จริงในประเทศไทย ช่วง พ.ค. – ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5

พบว่า การฉีด 2 เข็มจะลดการเกิดปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ 60% ป้องกันเสียชีวิต 72% หากฉีดเข็มสามป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ 83% ป้องกันเสียชีวิต 93%

แต่หากฉีด 4 เข็มขึ้นไป ป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต 100% แต่ย้ำว่าการฉีดไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่หวังผลการฉีดเพื่อลดอาการหนักและเสียชีวิต หากฉีดแล้วเกิน 6 เดือนให้รีบรับเข็มกระตุ้น

“2-3 เดือนนี้ คนใกล้ตัวติดโควิดมากขึ้น เกิดจากตัวเชื้อโอมิครอนที่แพร่ระบาดและติดเชื้อได้ง่าย หากตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ทำอย่างไร ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีมีเหตุสมควรเกี่ยวกับโควิด 19

เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น มีผลการปรับปรุงรูปแบบการรักษาโควิด ยกเลิกการรักษาแบบ HI และฮอสปิเทล ผู้มีสิทธิบัตรทอง วันที่ 1 ก.ค. และประกันสังคม วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา

หลังประกาศนี้ผู้ป่วยยังรับการรักษาฟรีตามสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจในรูปแบบ OPSI หรือผู้ป่วยนอก อาการหนักใช้สิทธิ UCEP ที่ใดก็ได้” พญ.สุมนีกล่าว

พญ.สุมนีกล่าวว่า เมื่อตรวจเจอ 2 ขีด ให้โทร 1330 กลุ่มประชาชนทั่วไปกด 14 กลุ่ม 608 ติดเตียง ผู้พิการ กด 18 อาการหนักโทร 1669 กด 2 ศูนย์เอราวัณรับผิดชอบนำส่ง รพ.ทุกที่ ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองติดต่อรักษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน คลินิกชุมชนอบอุ่น หน่วยบริการปฐมภูมิของ รพ. สถานพยาบาลที่ลงทะเบียน หรือร้านยาในโครงการเจอ แจก จบ สามารถดูรายชื่อร้านยาได้ https://www.nhso.go.th/downloads/197

สำหรับประกันสังคมเข้าระบบการดูแลแบบเจอ แจก จบ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากมีข้อสงสัยโทรสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง สิทธิข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เข้ารับบริการสถานพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง หรือหน่วยงานใดมีสิทธิรักษา รพ.เอกชนได้ก็ให้รักษาตามสิทธิที่กำหนดไว้

“ผู้ป่วยโควิดทั้ง 3 สิทธิ ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา สามารถใช้บริการผ่านเทเลเมดิซีนผ่าน 3 แอพพลิเคชัน คือ คลิกนิก Clicknic รับผู้ป่วยทั่วประเทศสีเขียวและ 608 ส่วน “หมอดี” รับเฉพาะสีเขียว ไม่รวมกลุ่ม 608 และ “กู๊ดด็อกเตอร์” รับเฉพาะกลุ่มสีเขียว แต่เฉพาะพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และชลบุรี

เมื่อติดต่อผ่านแอพฯ ใดแอพฯ หนึ่ง รอเจ้าหน้าที่ยืนยันตัวตนเพื่อเข้ารับบริการ จะประเมินอาการ ให้คำแนะนำ กรณีต้องรับยาจะจัดส่งยาไปให้ ภายใต้ดุลยพินิจแพทย์ที่ดูอาการแล้ว ครบ 48 ชั่วโมงติดตามอาการ และให้คำแนะนำจนครบ 10 วัน ถ้าอาการดีขึ้นจะออกจากระบบในการดูแลรักษา” พญ.สุมนีกล่าว

พญ.สุมนี กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ ขณะที่แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังคงตัว ส่วนประเทศไทยก็เช่นกัน พบเป็นระลอกเล็กๆ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่แนวโน้มผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังลดลงต่อเนื่อง อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดง และการใช้ยาต่อวันลดลง ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยงเดิม

ขอความร่วมมือรับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ มาตรการป้องกันยังสำคัญเหมือนเดิมคือ มาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ ไม่ไปที่คนหนาแน่นอากาศปิดทึบ ไปรับวัคซีนสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกที่ ส่วนวัคซีนเด็กเล็ก 6 เดือนถึงก่อน 5 ปีมาเมื่อไร ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดหากับทางไฟเซอร์ น่าจะเข้ามาช่วงปลายไตรมาสที่ 4 หรือปลายปีนี้

© 2021 thairemark.com