Tuesday, 14 January 2025 - 12 : 40 pm
kanda_002
data-no-lazy="1"
kanda_002

“หอสมุด มธ.” จับมือ “สมาคมนักเขียนฯ” และ “กองทุนศรีบูรพา” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแบ่งปัน

“หอสมุด มธ.” จับมือ “สมาคมนักเขียนฯ” และ “กองทุนศรีบูรพา” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแบ่งปัน จัดเสวนา “Novels of Life ซีไรต์ ไปให้สุด โฉมใหม่นวนิยายไทย” ชวนล้อมวงคุยกับนักเขียน Short list ซีไรต์ 2567

รศ.ดร.อัญณิฐา ดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกองทุนศรีบูรพา จะจัดกิจกรรมเสวนานักเขียนซีไรต์ เนื่องในวาระ 90 ปี หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “Novels of Life ซีไรต์ ไปให้สุด โฉมใหม่นวนิยายไทย” เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ด้านวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอนาคต และตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และความต้องการของผู้รับบริการ รวมทั้งส่งเสริมการใช้พื้นที่ สร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ผู้รับบริการ และสร้างการรับรู้การจัดกิจกรรม เนื่องในวาระ 90 ปี หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้เชิญนักเขียนนวนิยายที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้าย รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (Southeast Asian Writers Award: S.E.A. Write) ประจำปี 2567 ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

รศ.ดร.อัญณิฐา กล่าวต่อว่า กิจกรรมเสวนาจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ โถงกิจกรรม ชั้น U1 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นที่น่ายินดีว่านักเขียนเจ้าของผลงานเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ในปีนี้ทั้ง 7 คน ได้ตอบรับเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ กล้า สมุทวณิช (เจ้าของผลงาน “แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก”) ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด (เจ้าของผลงาน “กี่บาด”) พิชา รัตนานคร (เจ้าของผลงาน “แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี”) LADYS (ลาดิด) (เจ้าของผลงาน “คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms. Kent & Me” และ “อันกามการุณย์ Non fa niente”) วิภาส ศรีทอง (เจ้าของผลงาน “ห้องเรณู”) สาคร พูลสุข (เจ้าของผลงาน “ล้านนาฮาเร็ม”) และ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ (เจ้าของผลงาน “แมลงสาบในเมืองสลด”) โดยมีนักวิจารณ์วรรณกรรมและนักเขียน คือ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เป็นผู้ดำเนินรายการ

“หอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ปัจจุบันได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 90 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับปรุงพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไปพร้อมกัน ปัจจุบันหอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ มุ่งสู่การเป็นห้องสมุดเพื่อชีวิต หรือ “Library of Life” ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การวิจัย นวัตกรรม และทักษะอนาคต แก่ประชาคมธรรมศาสตร์และสังคม โดยมีการบริการและจัดกิจกรรมในหลากหลายมิติ มากกว่าการให้บริการหนังสือหรือตำรา อีกทั้งยังเปิดพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของหอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ผ่าน ‘กองทุนธรรมพัชร์’ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นหนึ่งในการเปิดพื้นที่และสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้ร่วมกับสมาคมนักเขียนฯ และกองทุนศรีบูรพา จัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสวนา พร้อมทั้งสามารถเยี่ยมชมพื้นที่บริเวณหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้อีกด้วย” ผอ. หอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ กล่าวเชิญชวน