Thursday, 28 March 2024 - 5 : 31 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

40 ปี แห่งความท้าทาย ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ จากสาวน้อยในป่าใหญ่ สู่การขึ้นทะเบียน GI

ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ชูจุดขายอันโดดเด่น “เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง” เสริมทัพท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยกระดับมาตรฐานชาวสวนทุเรียน ชวนย้อนอดีตสู่ทุเรียนต้นแรกในปากช่อง สาวน้อยในป่าใหญ่ ที่กลายเป็นเจ้าหญิงแห่งวงการทุเรียนไทย

ปากช่อง ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติ ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ ในแหล่งโอโซนอันดับต้น ๆ ของโลก ย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนสายพันธุ์ปักษ์ใต้ ได้เดินทางไกลจากจังหวัดชุมพร มาสู่อำเภอปากช่อง ด้วยแรงกายแรงใจที่มุ่งมั่นของ “วิชัย วงศ์วิชัย” เจ้าของไร่วงศ์เกษตร จากวันนั้นถึงวันนี้ ด้วยรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนไปยังเกษตรกรรายอื่น รวมพื้นที่รวมกว่า 1 หมื่นไร่ ในอำเภอปากช่อง

กรมทรัพย์สินทางปัญญา   นิยาม “ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” (Pakchong-Khaoyai Durian) หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน ๆ รสชาติหวาน มัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ลักษณะที่โดดเด่นของทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ประกอบด้วย

  • รูป  เนื้อแห้งฟู สีเหลืองสดสวย ปลูกในพื้นที่ดินแดง แร่ธาตุสมบูรณ์ ท่ามกลางสภาพอากาศเย็น ปริมาณน้ำฝนไม่มาก ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของเขาใหญ่ แหล่งโอโซนอันดับต้น ๆ ของโลก
  • รส ไม่หวานเกินไป สัมผัสนุ่ม ละมุนลิ้น น้ำที่ใช้รดมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ บ่มจนเต็มรสชาติ ท่ามกลางอากาศเย็น ๆ บนเทือกเขา
  • กลิ่น  กลิ่นไม่แรง หอมถูกใจ เนื่องจากได้น้ำพอเหมาะ ไม่แฉะจนเกินไป เนื้อจึงแห้ง กลิ่นไม่แรง

รวมตัวร่วมใจ สู่การขึ้นทะเบียน GI

นายมาโนช รูปสมดี เจ้าของสวนอัมพร ประธานวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน อ.ปากช่อง เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุเรียนปากช่องมีพื้นที่ปลูกประมาณ 10,000 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 4,000 ไร่ ได้รับหนังสือรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา  39 แปลง  รวมพื้นที่ 2,000 ไร่ โดยตราสัญลักษณ์ GI  จะมีขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ในทุก ๆ 2 ปี

“ชาวสวนทั่วทั้งอำเภอปากช่อง สามารถขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI และขอมาตรฐาน GAP เพราะในอนาคต หากไม่ได้มาตรฐาน GAP ก็จะไม่สามารถส่งออกได้ ส่วนมาตรฐานของ GI ไม่ใช่ว่าทุกคนได้แล้วจะใช้ตราติดที่สวนไปตลอด เราต้องปฏิบัติตามคู่มือที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ไว้ 2 ปีก็จะมีการขอใหม่ จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา  พาณิชย์จังหวัด คณะกรรมการมาตรวจแปลง ดังนั้นอยากให้สมาชิกรักษาคุณภาพให้อย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP 8 ข้อ”

นายมาโนช กล่าวว่า ปากช่องถือเป็นพื้นที่ท้าทายในการปลูกทุเรียน เนื่องจากเป็นพื้นที่ร้อน และมีความแห้งมาก ทุเรียนจึงต้องปรับสภาพ ที่ผ่านมาชาวสวนทุเรียนต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น หรือที่เรียกกันว่า “ทุเรียนเรียนไม่จบ” แต่ในทางกลับกัน ด้วยลักษณะที่แตกต่างของสภาพแวดล้อม ด้วยความเป็นพื้นที่แห้ง ทุเรียนจึงมีเนื้อแห้งกว่าภาคตะวันออก อีกทั้งยังมีกลิ่นไม่แรง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ 

สาวน้อยในป่าใหญ่ ผู้อ่อนไหวและเอาใจยาก

ด้านนางรัตนา สิทธิวนกุล เจ้าของไร่วงศ์เกษตร กล่าวว่า ทุเรียนต้นแรกของ อ.ปากช่อง มีต้นกำเนิดจากคุณพ่อวิชัย วงศ์วิชัย (ซ้ง) ที่ได้นำพันธุ์ทุเรียนหมอนทองและชะนี รวมทั้งเงาะ จากจังหวัดชุมพร มาทดลองปลูกในสวน เพื่อทดแทนการปลูกพืชล้มลุกอย่างข้าวโพดหรือมันสำปะหลัง โดยเริ่มต้นปลูกทุเรียนต้นแรกประมาณปี พ.ศ.2517 ซึ่งขณะนั้นมีความยากลำบากมาก เนื่องจากลักษณะของพื้นที่ปากช่องเป็นพื้นที่แห้ง ประกอบกับสมัยก่อนยังไม่มีน้ำบาดาล การดูแลรักษาต้นทุเรียนจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ด้วยความมานะใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจของคุณพ่อวินัย 7 ปีผ่านไปจึงได้ผลผลิต และรับรู้ได้ว่า ด้วยเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทำให้ปลูกทุเรียนได้ผลผลิตที่แตกต่าง รสชาติอร่อย เนื้อแห้ง ไม่เหมือนใคร

หลังจากมีรายได้จากสวนทุเรียน ไร่วงศ์เกษตร จึงลงทุนเจาะน้ำบาดาล และขยายพื้นที่ปลูกจาก 100 ต้นในอดีต ปัจจุบันเป็น 2,000 ต้น อย่างไรก็ตาม ทุเรียนเป็นพืชที่ดูแลยาก 40 ปีที่ผ่านมาจึงต้องมีการปลูกซ่อมทุกปี 

“สมัยก่อนเราเปลี่ยนพืชมาเยอะ พ่อบอกว่าการทำพืชล้มลุก ข้าวโพด มันสำปะหลัง มันไม่ยั่งยืน ก็เลยคิดว่าทำยังไงทำแล้วให้เก็บเกี่ยวได้ตลอด ก็เลยเปลี่ยนมาปลูกผลไม้ ทุเรียนใช่ว่าจะปลูกง่าย รัยกว่า 40 ปี ก็ปลูกทุกปี ในพื้นที่เดิม เขาเป็นพืชเอาใจยาก ดูแลเหมือนเลี้ยงลูกอ่อน เรื่องน้ำสำคัญมาก”

นางรัตนา กล่าวต่อว่า หลังจากที่นำทุเรียนไปขายในตัวอำเภอปากช่อง ลูกค้าทั้งทั้งต่างถิ่นและในพื้นที่ ต่างสอบถามกันว่าทุเรียนเหล่านี้มาจากแหล่งใด เมื่อทราบว่าเป็นทุเรียนปากช่อง จึงเกิดกระแสตามมาดูถึงสวน จากนั้นชาวสวนอื่น ๆ ในพื้นที่ปากช่องจึงเริ่มหันมาปลูกทุเรียน เมื่อเริ่มเป็นกลุ่มใหญ่ จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจ และช่วยกันยกระดับมาตรฐานการปลูกทุเรียนที่มีคุณภาพ จนมาสู่การจดขอทะเบียน GI

“ปากช่อง เป็นเมืองใกล้กรุงเทพ มีคนมาเที่ยวเขาใหญ่เยอะมาก เราก็เลยคิดว่าทำไงให้ปากช่องมีจุดขายเพิ่มขึ้น ปากช่องมีผลไม้อร่อยหลายอย่าง  รวมทั้งทุเรียน เพราะดินตรงปากช่องปลูกทุเรียนได้อร่อยมาก  ทางกรมชลประทานมาตรวจก็บอกว่าน้ำบาดาลของที่นี่เป็นน้ำที่ดี ชาวสวนก็ร่วมแรงร่วมใจกัน โดยมีผู้ใหญ่ ทางราชการ เข้ามาช่วยแนะนำ ทำให้เราได้ GI”

 ปัจจุบันทุเรียนต้นแรกของปากช่อง ยังคงให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปนาน จะมีรสชาติที่อร่อยขึ้น เปลือกบางลง แสดงให้เห็นถึงการดูแลบำรุงรักษาที่มาถูกทาง พร้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

เกษตรกรชื่นใจ ทุเรียน GI เอกลักษณ์ที่เชื่อถือได้

นอกจากความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่สามารถบ่งชี้ความเป็นพื้นที่เฉพาะของทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ รวมทั้งราคาที่คาดว่าจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม การขึ้นทะเบียน GI ยังนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ รวมทั้งเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนในพื้นที่แห่งนี้

นางสาวมนิดา เคนผาพงศ์ เจ้าของสวน Treatcher Farm (ทรีทเชอร์ ฟาร์ม) กล่าวว่า ทรีทเชอร์ ฟาร์ม ให้ผลผลิตทุเรียนเป็นปีที่ 3 ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เพิ่งรับรู้ว่ามีการปลูกทุเรียนในพื้นที่ปากช่อง  ดังนั้นการขึ้นทะเบียน GI จึงถือเป็นการเสริมภาพลักษณ์ด้านมาตรฐานของทุเรียนปากช่อง ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเป็นของดีมีคุณภาพ

“เมื่อลูกค้าได้มาชิม อย่างแรกเขาทักเลยว่า กลิ่นไม่แรงมาก เหมาะสำหรับคนที่เริ่มทานทุเรียน หรือไม่ชอบกลิ่นแรง ๆ  เนื้อสัมผัสค่อนข้างครีม ๆ ละมุน เนียนนุ่ม ที่ลูกค้าติดใจมากคือ ระดับความหวาน ไม่หวานมากเกินไป”

นายวัชรพงษ์ อิ่มลิ้มธาร เจ้าของไร่กฤติพงศ์ กล่าวว่า เป็นชาวปากช่องที่ได้เรียนรู้จากการทำเกษตรจากพ่อแม่ โดยเริ่มออกจากงานประจำมาทำสวนประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีความยินดีมากที่ทุเรียนปากช่อง ได้รับการขึ้นทะเบียน GI  เนื่องจากพื้นที่ปากช่อง มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีบรรยากาศที่ดี ดินที่ดี ความชื้นสัมพัทธ์ที่ดี ทำให้ทุเรียนมีรสชาติอร่อย เป็นที่ชื่นชอบของคนที่เคยชิม

“ทุเรียนที่ไร่ เมื่อลูกค้าได้ชิม ติดอกติดใจ เนื่องจากว่า มีรสชาติที่นุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง กินแล้วไม่มีกลิ่นฉุนออกมาเลย หลายท่านชิมแล้วติดใจซื้อแล้วซื้ออีก”

นายวาที ทองสัมฤทธิ์ เจ้าของสวนทุเรียนบ้านไร่ภูฟ้าใส กล่าวว่า สวนทุเรียนบ้านไร่ภูฟ้าใส เป็นหนึ่งใน GI จาก 39 สวน ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI สร้างความภาคภูมิใจ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากทุเรียนในแหล่งอื่น สามารถการันตีว่า ทุเรียนของปากช่อง เป็นของปากช่องจริง ๆ ไม่ใช่ของถิ่นอื่นมาปลอมปน และเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน

“การทำบันทึกของ GI ต่างๆ นั้น มันสามารถระบุได้ว่า เราทำทุเรียนปลอดภัยให้กับผู้บริโภคด้วย เพราะในบันทึกจะบอกว่า เราบำรุงต้นเมื่อไหร่ ทำอะไรกับต้นนั้นบ้าง ทุกต้นมีชื่อหมด ทุกต้นมีการติดแทกติดป้ายกำกับ ทำทุเรียนปลอดภัยหมายความว่า ระยะเวลาหลังจาก 45 วันสุดท้าย มันจะปลอดสารเคมี เมื่อมี GI ผสมกับมาตรฐาน GAP  ก็สร้างความมั่นใจได้เลย”

© 2021 thairemark.com