AP กางแผนงานปี 64 ตั้งเป้าปูพรม 147 โครงการทั่วไทย มูลค่าพร้อมขายกว่า 121,890 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 43,100 ล้านบาท ส่วนยอดขายที่ 35,500 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด มหาชน หรือ AP กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม และที่แย่ที่สุด คือ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งทุกอย่างจะไม่กลับเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งวันนี้วัคซีนเข้ามาในไทยแล้ว แน่นอนว่าวัคซีนถือเป็นแสงเห็นความหวัง แต่คงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ สิ่งที่เราทุกคนต้องระวังมากที่สุดตอนนี้คือ Ripple Effect หรือปรากฏการณ์ระลอกคลื่นที่ศูนย์กลางก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเวลาในการฟื้นตัวที่ต้องลากยาวออกไปอีกหลายปี โดยการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เคยสมมติฐานเกี่ยวกับประเทศไทยที่คาดการณ์ว่า ปี 2570 เศรษฐกิจไทยจะกลับไปก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่คาดการณ์จะเป็นเพียงตัวเลข แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อให้ตัวเลขกลับไปที่เดิม แต่ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ความรู้ที่เหมือนเดิมจะเปลี่ยนไป วิธีการเดิมที่เคยทำมาจะเปลี่ยนไป เราต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ
สำหรับ AP เองก็ได้มีการปรับตัวมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา เอพีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงสุดเกินจากคาดการณ์ ทั้งในมิติรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 46,130 ล้านบาท เติบโตกว่า 42% จากปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 4,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 38% ด้านสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 0.71 เท่า
นายอนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2564 นี้ AP จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาอยู่ทั่วประเทศมากถึง 147 โครงการ มูลค่าพร้อมขายกว่า 121,890 ล้านบาท โดยเป็นการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้จำนวน 34 โครงการ มูลค่าประมาณ 43,000 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นโครงการแนวราบจำนวน 30 โครงการ มูลค่าประมาณ 28,800 ล้านบาท คอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะพร้อมเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังจำนวน 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 14,200 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างการขายที่กระจายไปในทุกทำเลทั้งในกทม. และต่างจังหวัดมากถึง 113 โครงการ มูลค่าสินค้าพร้อมขายประมาณ 78,890 ล้านบาท โดยในปี 2564 นี้ AP ตั้งเป้ารับรู้รายได้ (รวม 100% JV) 43,100 ล้านบาท และเป้ายอดขายที่ 35,500 ล้านบาท
ด้านนายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า เมื่อปี 63 ที่ผ่านมาเราได้ขยายโครงการไปยังต่างจังหวัด โดยทดลองทำโครงการแนวราบ 3 แห่งได้แก่ ขอนแก่น โคราช และระยอง ซึ่งปิดยอดขายของทั้ง 3 โครงการประมาณ 480 ล้าน จังหวัดขายดีสุดคือ ขอนแก่น ขายได้ประมาณ 18% โคราช 11% และระยอง 8%
อย่างไรก็ตาม ทาง AP ไม่ได้กังวลหรือห่วงเรื่องสต๊อกที่สร้างไว้นาน เพราะคำนวณตามดีมานด์ที่มีอยู่ หากมีดีมานด์เข้ามา AP ก็จะเริ่มก่อสร้างบ้านให้กับลูกค้า และปีนี้เราได้เพิ่มโครงการในอีก 2 จังหวัด คือ อยุธยา และเชียงราย ซึ่งยอดขายก็อยู่ที่ประมาณ 10%
สำหรับการมองหาตลาดใหม่ๆ นั้น AP เราถนัดทำในโครงการในช่วงราคา 3-10 ล้าน ทั้งแนวราบและแนวสูง ปัจจุบันเราก็เห็นโอกาสว่าจริงๆ แล้วในแง่ซัพพลายที่หายไปในตลาด ก็คือราคาต่ำกว่า 3 ล้าน เราก็ศึกษาในภาพรวมของตลาดอยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ส่วนตลาดที่ราคามากกว่า 10 ล้านขึ้นไป AP มองว่า ซัพพลายในส่วนนี้เริ่มหายไปจากตลาด แต่ดีมานด์ยังมีอยู่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเจาะตลาดอสังหาฯ ที่กว้างมากขึ้น
เผย 3 ยุทธศาสตร์เป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย
- สร้างผู้นำอิสระเพิ่มโอกาสในการแข่งขันที่มากกว่า (Create Independent Responsible Leaders) องค์กรจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูงยิ่งในสภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่มากขึ้น บริษัทฯ จึงให้เดินหน้าสร้างบทบาทของผู้นำในโลกยุคใหม่ ให้เป็น ผู้นำที่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อตนเอง ลูกค้า คู่ค้า และเพื่อนร่วมงานดำเนินงาน
- การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (INNOVATIVE CULTURE) การที่พนักงานเอพี ทุกคนจะสามารถสร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ผู้คนในสังคม สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการด้วยตนเองนั้น สมาชิกทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะทำหน้าที่ในบทบาทใด หรือรับผิดชอบเรื่องใด พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น
- พลิกเกมธุรกิจเดินหน้าเต็มลูป ทรานฟอร์มทุกมิติด้วยดิจิทัล (eVERYTHING DIGITAL) อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรคือ การนำทุกมิติของการดำเนินงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบองค์รวม (Holistic Digital Management) ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเอพี หรือพนักงาน
ทั้งนี้ เป็นรากฐานสนับสนุน 2 ยุทธศาสตร์ข้างต้น เพื่อการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ค้นหา Unmet Need ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำอีกด้วย