Tuesday, 21 January 2025 - 12 : 58 am
kanda_002
data-no-lazy="1"
kanda_002

วช. ร่วมกับ มรภ.ยะลา หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยกระดับธุรกิจโฮมสเตย์ จังหวัดยะลา

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสุพจน์ อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ โครงการเรื่อง “การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา” โดย รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย นายหว่างหลาย แช่หลิน ผู้นำชุมชน และชาวบ้านให้การต้อนรับ ณ ชุมชนบ้านปิยะมิตร 3 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

นายสุพจน์ อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการการยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อดำเนินการพัฒนาต้นแบบการจัดการธุรกิจโฮมสเตย์เพื่อยกระดับศักยภาพการจัดการและคุณภาพการบริการของธุรกิจโฮมสเตย์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา และถ่ายทอดต้นแบบการจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่สวยงามของประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย จนมีคำขวัญว่า “ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน” และอยู่บนเทือกเขาสันกาลาคีรีมีหมอกทั้งปี พร้อมอยู่ในแนวพื้นที่ป่าฮาลาบาลา ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่น่าหลงไหล จากสถิติจำนวนนักเที่ยว 2 ปีย้อนหลัง พบว่า นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมหาศาล จึงทำให้หลายหน่วยงานช่วยกันผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน

คณะผู้วิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เห็นถึงความสำคัญจึงเริ่มศึกษาโครงการ “การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา” โดยเริ่มจากศึกษาความต้องการและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ต่อการบริหารจัดโฮมสเตย์ที่อำเภอธารโต และอำเภอเบตง และนำเสนอแนวทางปฏิบัติธุรกิจโฮมสเตย์และสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการในการบริหารจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ให้กับ ผู้ประกอบการ โดยผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์และกิจกรรมสนทนากลุ่มประกอบด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจโฮมสเตย์ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และสมาชิกชุมชน พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจเข้าพักโฮมเสตย์เพื่อสัมผัสความเป็นธรรมชาติ แต่พบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ขาดความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการ

การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน และด้านคุณภาพการให้บริการที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากความสำคัญและปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานโฮมสเตย์ โดยคำนึงถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากการศึกษาโฮมสเตย์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นทิศทางและแนวโน้มว่างานวิจัยโฮมสเตย์ในระยะต่อไป ควรมีการพัฒนามาตรฐานของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ไปสู่สากลซึ่งเป็นการปรับตัวตามยุคสมัย แต่ในขณะเดียวกันต้องรักษาจุดสมดุลของระบบนิเวศ และวิถีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนเอาไว้ เพื่อให้การท่องเที่ยวโฮมสเตย์ในบริบทของสังคมชุมชนท้องถิ่นไทยมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการการยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ ยังได้มีการยกระดับอัตลักษณ์อาหาร โดยการนำพืชผักผลไม้ท้องถิ่นมายกระดับอาหารเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งมีเมนู เช่น ทุเรียนชุบแป้งทอด ผัดยอดมะระหวานทรงเครื่อง ซุปทุเรียนน้ำ แกงคั่วกะทิทุเรียนปลานิล ปลานิลน้ำไหลทอด และข้าวผัดทรงเครื่อง เป็นต้น

ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลผลิตจากโครงการวิจัยจะนำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์เป็นฐานให้มีมาตรฐานในการรับรองนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด และนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำและบอกต่อ รวมถึงสามารถเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำแก่ชุมชน ๆ สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดยะลาอย่างยั่งยืน อีกด้วย