ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และ ติมอร์-เลสเต แต่ละแห่งก็มีวิธีการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าความมั่นคงย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและบริหารจัดการทรัพยากรอาหารสำหรับประชาชนในประเทศ และประเทศไทยก็มีความพร้อมอย่างมากทั้งในด้านภูมิศาสตร์ และการบริหารจัดการ กระทั่งกลายเป็น “ครัวของโลก” ที่เดินหน้าพัฒนาและยกระดับความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อประชาชนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
กระบวนการผลิต “หมู” ของประเทศไทย เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ตอกย้ำคุณภาพทางอาหารที่เหนือกว่าทุกๆประเทศในภูมิภาคนี้ กล่าวคือมีการพัฒนากระบวนการเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ ที่กำกับดูแล ตลอดจนการตรวจสอบสารตกค้างปนเปื้อน มีการบังคับใช้กฏหมายที่เข้มงวด ทำให้ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ซึ่งทั้งสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในอุตสาหกรรมหมู ต่างพูดตรงกันว่า “หมูไทยเป็นหมูที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดในภูมิภาค” ลองมาไล่เรียงกันดูว่าอะไรบ้างที่ทำให้คนไทยได้กินหมูคุณภาพสูงมาโดยตลอด
ด้านอาหารสัตว์
- ภาครัฐมีการกำหนดให้โรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่งต้องผ่าน GMP ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์
- กำหนดให้มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมระบบการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยา
- ยาต้านจุลชีพที่ใช้ผสมอาหารสัตว์เป็นยาสำหรับสัตว์และระบุข้อบ่งใช้ผสมอาหารสัตว์ตามกฎหมาย อาทิ ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง
- ผลิตอาหารสัตว์ที่มียาต้านแบคทีเรียตามใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรเท่านั้น
- การรับรองโรงงานอาหารสัตว์ มีการตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารสัตว์
ด้านการเลี้ยง
- รัฐกำหนดให้ฟาร์มสุกรขนาด > 500 ตัว ต้องผ่านการรับรองเป็นฟาร์มมาตรฐานได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ (GAP) โดยมีการควบคุม 1) องค์ประกอบฟาร์ม มีพื้นที่ฟาร์มแยกเป็นพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ 2)การจัดการฟาร์ม มีบุคลาการ มีอุปกรณ์ให้น้ำ-อาหารเหมาะสมตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 3)การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ มีสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มดูแลสุขภาพสุกรและการให้ยา 4)การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน
- กำหนดให้ฟาร์มมาตรฐานทุกฟาร์มมีสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกร ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์
- การรับรองฟาร์มมาตรฐานต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำสุกร หาปริมาณยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์
- ในสุกรก่อนขาย มีการตรวจสอบยาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมาตรฐานต้องปลอดยาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดง
ด้านโรงงานชำแหละและแปรรูป
- กำหนดให้โรงงานชำแหละ ตัดแต่งและแปรรูปสุกร ต้องผ่านการรับรอง GMP จากกรมปศุสัตว์
- การเคลื่อนย้ายสุกรจากฟาร์มมาโรงงานชำแหละต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากหน่วยงานกรมปศุสัตว์ โดยมีการตรวจโรคระบาดในสุกรก่อนเคลื่อนย้าย
- มีการสุ่มตรวจหายาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในสุกรมีชีวิตก่อนชำแหละ และมีการสุ่มตรวจในเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรในโรงตัดแต่งและแปรรูปสุกร
ด้านจุดจำหน่าย
- กรมปศุสัตว์ออกสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” รับรองจุดจำหน่ายเนื้อสุกรที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย
- มีการสุ่มตรวจหายาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่จุดจำหน่าย
ด้านห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบ
- เป็นห้องปฎิบัติการในสังกัดของกรมปศุสัตว์เช่น สถาบันสุขภาพสัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในภาคต่างๆ ซึ่งมีมาตรฐานการตรวจสอบขั้นสูง
ด้านบทลงโทษ
- ผู้จัดจำหน่ายหากตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงในสินค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผู้ใดผลิต-นำเข้า-ขาย หรือใช้อาหารสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานการเลี้ยงหมูที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างดี เพื่อให้ผู้บริโภคได้อาหารที่ปลอดภัยสูงสุด จะเห็นว่า มีกฏหมายควบคุมการใช้สารเร่งเนื้อแดง มีการข้อกำหนดการตรวจสอบสารตกค้างปนเปื้อน ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต ทั้งที่ฟาร์ม ที่โรงชำแหละ ที่โรงแปรรูป รวมถึง ที่จุดขาย และมีบทลงโทษที่เข้มงวด นอกจากนี้ประเทศไทยยังโดดเด่นในด้านการพัฒนาสายพันธุ์หมู และเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ทันสมัย จนเรียกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ตามไม่ทัน
น่าดีใจที่คนไทยมีหมูคุณภาพระดับนี้ไว้บริโภค แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นแต่ก็เพื่อแลกมาซึ่งความปลอดภัยของลูกหลานและคนในประเทศ ย่อมดีกว่าปล่อยให้สุขภาพของทุกคน ต้องอยู่บนความเสี่ยงกับการกินหมูเถื่อนราคาถูกจากเพื่อนบ้าน หรือจากประเทศในแถบอเมริกาใต้ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเสรี … ดังนั้น ถ้าคิดจะกินหมูขอให้เลือกกินหมูไทยที่มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่กวาดล้างหมูเถื่อนให้หมดไปได้โดยเร็ว./
โดย ลักขณา นิราวัลย์