คปภ. จัดสัมมนาวิชาการประกันภัยประจำปี Thailand Insurance Symposium 2021 นำภาคธุรกิจประกันภัยบริหารความเสี่ยงจากอุบัติใหม่ในยุคหลัง COVID-19 ประเดิมการให้ทุนวิจัยนวัตกรรม hybrid “แอปพลิเคชั่น AgentDee” ครั้งแรกของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง เปิดเวทีระดมความรู้ในงานประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 (Thailand Insurance Symposium 2021) ภายใต้แนวคิด “The New Era of Insurance : How to Manage Emerging Risks in the post COVID-19” รูปแบบเสมือนจริง (Virtual meeting) ผ่านระบบ Zoom โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงาน Online จำนวนมาก ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษา ต่างๆ หน่วยงานภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย รวมทั้งนักศึกษาหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นักศึกษาหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (CIA) และสื่อมวลชน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า การจัดงาน Thailand Insurance Symposium 2021 ครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือของภาคธุรกิจประกันภัย ในการประชุมสัมมนาวิชาการที่เปิดเวทีให้ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นอย่างเข้มข้นในหลากหลายประเด็น อาทิเช่น ด้านการประกันภัย และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัยในการปรับตัวรับ Next New Normal เพื่อให้สามารถเพิ่มโอกาสพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างความเท่าเทียม (Democratization of Technology) มาปรับปรุงกระบวนการทำงานในเชิงรุกเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน และผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเทคโนโลยีประกันภัยได้ง่ายขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัย
ทั้งนี้ ได้จัดพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการให้กับ วปส. รุ่นที่ 9 โดยมีผลงานที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเรื่อง การประกันภัยสุขภาพพื้นฐานสำหรับผู้ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากภาครัฐ (การประกันภัยสุขภาพภาคบังคับ) ของกลุ่มที่ 1 นำเสนอโดย คุณกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารอาวุโส สายงานวิชาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และคุณพรวสา ศิรินุพงศ์ เลขานุการกรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ได้รับรางวัลผลงานดีเด่น โดยมี รศ.ดร.ณดา จันทร์สม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้วิพากษ์ และผลงานเรื่อง การใช้เทคโนโลยีติดตามข้อมูลพฤติกรรมการขับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนาดใหญ่ในการคำนวณเบี้ยประกันเพื่อความปลอดภัยของสังคม ของกลุ่มที่ 6 นำเสนอโดย รศ.ดร.ชนินทร์ ทินนโชติ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัลผลงานดี โดยมี ผศ.ดร.ปรีชา วิจิตรธรรมรส หัวหน้าสาขาวิทยาการประกันภัย และการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้วิพากษ์ สำหรับรางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงานเรื่อง แนวทางการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแล การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม และการเข้าถึงบริการ รวมทั้งกรณีศึกษา การให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ของกลุ่มที่ 2 ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานที่มีประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
รวมทั้ง มีการนำเสนอผลการศึกษา “โครงการศึกษาผลกระทบของธุรกิจประกันภัยไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และศึกษารูปแบบและการดำเนินธุรกิจ ทิศทาง และรูปแบบการกำกับดูแล ตลอดจนการส่งเสริมธุรกิจ” นำเสนอโดย นายอิทธิพัทธ์ ลิมป์มณีรักษ์ Partner, Advisory จาก KPMG Poomchai Business Advisory โดยมี ผู้ดำเนินรายการคือ คุณประภาภัสร์ กุลปวโรภาส ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และบริหารความเสี่ยง สำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นโครงการศึกษาของสำนักงาน คปภ. เพื่อศึกษาแนวทางของหน่วยงานกำกับในการตั้งรับและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และยังมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรต่างประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิภายในประเทศ ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ได้แก่ การบรรยายหัวข้อ “Climate Change and Insurance Industry’s Response to It” โดย Mr.Tom Mortlock, Senior Analyst, Aon Reinsurance Solutions, Australia และ Ms. Seewon Oh, Capital Advisory, Aon Reinsurance Solution, Japan การบรรยายหัวข้อ “Cyber Security Awareness in Business” โดย คุณธีรยา พงษ์พูล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานธุรกิจลูกค้าบริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) การเสวนา หัวข้อ “Sustainable Insurance through ESG” โดยคุณไพบูล ตันกูล หุ้นส่วนกรรมการ บริษัท PwC ประเทศไทย ร่วมกับ คุณกุลวัลย์ สุพีสุนทร ผู้จัดการอาวุโสส่วนงาน Sustainability and Climate Change บริษัท PwC ประเทศไทย และปิดท้ายด้วยไฮไลท์สำคัญคือ การเสวนาจากวิทยากรที่มีบทบาทสำคัญในวงการประกันภัย และเคยเป็นนักศึกษาศิษย์เก่า วปส. ประกอบด้วย คุณสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย คุณอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และผู้ดำเนินการเสวนา ดร.ปิยวดี โขวิฑูรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎหมาย บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังมีการให้ทุนวิจัยนวัตกรรม hybrid ของ ผศ.ดร.ณัฐกรณ์ ผิวชื่น จากมหาวิทยาลัยมหิดล คือ “โครงการแอปพลิเคชัน AgentDee แพลตฟอร์มส่งเสริมการเข้าถึงตลาดการประกันภัยและการตัดสินใจเลือกซื้อประกันในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (AgentDee application: A platform to facilitate Insurance market accessibility and insurance purchase decision-making during COVID-19 pandemic crisis)” โดยงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกัน โดยอ้างอิงสมมติฐานของความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์ม AgentDee ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคที่ใช้นวัตกรรมนี้สามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงการวิจัยนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
“การจัดงาน Thailand Insurance Symposium 2021 ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ทั้งจากภาคธุรกิจประกันภัย ภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคธุรกิจอื่น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและเชื่อมต่อการทำงานผ่านการสร้างพันธมิตรในการประกอบธุรกิจ อันจะเป็นการผลักดันให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเสริมสร้างโอกาสการทำธุรกิจ สอดรับกับการปรับตัวของธุรกิจสำหรับการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาองค์กรให้เป็นการผสมผสานระหว่างความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการดำเนินการขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแบบ Bionic Company ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยและเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกัน ทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัยและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย