Tuesday, 14 January 2025 - 12 : 56 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ฉับไวทันเหตุการณ์ “คปภ.”เร่งเยียวยา”น้องน้ำมนต์”รองนางสาวไทยปี2562ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือ..! กรณีน้องน้ำมนต์ รองนางสาวไทย ปี 2562 ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เผยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเพื่อช่วยเยียวยาเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 4 กย 4074 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพลิกคว่ำ บริเวณสี่แยกสาธิตศึกษาศาสตร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิต คือ นางสาวมนชนิตว์ ช่วยบุญ รองนางสาวไทย ปี 2562 รวมอยู่ด้วย เบื้องต้น เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น เร่งสำรวจ ความเสียหายผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลงพื้นที่ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยในครั้งนี้

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น พบว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 กย 4074 กรุงเทพมหานคร ไม่ได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และไม่ได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ดังนั้น เพื่อให้ทายาทผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที สำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น จึงแนะนำและอำนวยความสะดวกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตทั้ง 3 ราย และผู้บาดเจ็บ จำนวน 1 ราย ยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต จะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บสามารถมอบอำนาจให้โรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบิกจ่ายโดยตรงจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 30,000 บาท โดยไม่ต้องสำรอง และหากผู้ประสบภัยที่เข้ารับการรักษาการบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ก็มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น ซึ่งเป็นค่าปลงศพอีกรายละ 35,000 บาท รวมเป็น 65,000 บาท

จากการติดตามช่วยเหลือด้านประกันภัยดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) ได้รับทราบความประสงค์ของครอบครัวผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต ต้องการนำศพของผู้เสียชีวิตกลับไปบำเพ็ญกุศล ณ ภูมิลำเนาของผู้ประสบภัย ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม และประสงค์ที่จะใช้สิทธิเบิกค่าเสียหายเบื้องต้น ซึ่งเป็นค่าปลงศพจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่จังหวัดภูมิลำเนา สำนักงานคปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) จึงได้ประสานงานไปยังสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ.จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงาน คปภ. จังหวัดกาฬสินธุ์ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดมหาสารคาม ที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว

ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงาน คปภ. จังหวัดกาฬสินธุ์ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดมหาสารคาม ได้เร่งรัดการดำเนินการและส่งข้อมูลทางระบบออนไลน์ไปยังกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งได้มีการอนุมัติการจ่ายเงินและโอนเงินเข้าบัญชีแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย ทั้ง 3 ราย เป็นค่าปลงศพ เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 105,000 บาท ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลทายาทมอบอำนาจให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เบิกจ่ายจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้ว จำนวน 30,000 บาท

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า นางสาวกชฎา เสียงใส ได้ทำประกันภัยประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 14001-108-20001421 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ด้วยจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท จึงได้ประสานงานให้ทายาทผู้เสียชีวิตยื่นเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้ว ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะช่วยติดตามให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าว จึงขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ซึ่งการทำประกันภัยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม อย่างน้อยที่สุดควรจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพื่อสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

© 2021 thairemark.com