คปภ. ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยทันที กรณี “รถกระบะตู้ทึบชนกับรถอีแต๋น” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และผู้บาดเจ็บ 2 ราย ที่จังหวัดชัยภูมิ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4900 กรุงเทพมหานคร ชนท้ายรถยนต์ใช้เพื่อการเกษตร (อีแต๋น) หมายเลขทะเบียน ฆจ 510 นครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 3 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจัตุรัส จำนวน 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลชัยภูมิ จำนวน 1 ราย รวมเสียชีวิต จำนวน 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยภูมิและโรงพยาบาลจัตุรัส เหตุเกิดบนถนนทางหลวง หมายเลข 201 (ชัยภูมิ-สีคิ้ว) หลักกิโลเมตรที่ 71-72 บริเวณหน้าแผงแตงโม หมู่ 4 ตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันที โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์กระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4900 กรุงเทพมหานคร ทำประกันภัยรถภาคบังคับไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 คุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และพบข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อเสียชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวน 2,500,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายตัวรถยนต์ 370,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 100,000 บาท ผู้โดยสารจำนวน 2 คน จำนวน 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ จำนวน 200,000 บาทต่อครั้ง
สำหรับรถยนต์ใช้เพื่อการเกษตร (อีแต๋น) หมายเลขทะเบียน ฆจ 510 นครราชสีมา จากการตรวจสอบพบว่าได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 19 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน ยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
ในการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้นั้น เบื้องต้นในกรณีที่รถยนต์กระบะตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4900 กรุงเทพมหานคร (ถ้าเป็นฝ่ายผิด) ทายาทโดยธรรมของผู้ขับขี่ และทายาทโดยธรรมของผู้โดยสารที่เสียชีวิตในรถยนต์ใช้เพื่อการเกษตร (อีแต๋น) ทั้ง 5 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 500,000 บาท จากการทำประกันภัยรถภาคบังคับ และในส่วนของการประกันภัยรถภาคสมัครใจจะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,000,000 บาท สำนักงาน คปภ. จังหวัดชัยภูมิ ได้ประสานงานบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งบริษัทตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต
และได้มอบหมายให้พนักงานของบริษัทในพื้นที่ติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ทั้งนี้สำนักงาน คปภ.จังหวัดชัยภูมิ ได้ตรวจสอบข้อมูลของทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ จึงได้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อหรือแจ้งสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย