Thursday, 28 March 2024 - 11 : 02 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

กูรูแนะ 5 จุดบอดประกันโควิคต้องระวังเสี่ยงเดี้ยง

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS) หรืออาจารย์ทอมมี่​ ​ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในการขาดทุนจากการรับประกันภัยโควิด-19ในจุดบอด ที่ 1 โดยได้หยิบยกบทเรียนจากน้ำท่วมว่า ก็เคยพิสูจน์มาแล้วให้รู้ว่าปัจจัยภายนอกจากการจัดการบริหารนั้น ไม่สามารถใช้สถิติมาจับได้ ตัวอย่างสมมติสำหรับเคสโควิดเลย เช่น มีการ locked down กันช้าเกินไป หรือ มีกลุ่มคนต่อต้านการกักตัวเองขึ้นมา ทำให้มีการติดเชื้อกันมากเหมือนอิตาลี เป็นต้น โดยสถานการณ์ต่างๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่อยากจะให้มองในมุมที่ว่า โอกาสในการติดเชื้อนั้น อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ 1% ไปจนถึง 80% ในชั่วข้ามคืน จากนโยบายการจัดการได้ทุกเมื่อ. ต้นทุนการเคลมของแบบประกันตัวนี้จึงไปผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาลเสียมากกว่า. ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าที่ประกันโควิด-19 ยังคุ้มครองอยู่ อาจจะมีคนไทยติดเชื้อทั้งหมดกันแค่ไม่เกิน 2 หมื่นคน หรืออาจจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 10 ล้านคนก็ได้ ถ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่สามารถจัดการควบคุมการติดต่อของโรคระบาดกันได้ดีพอ

พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน

จุดบอดที่ 2 (เจอปุ๊ปจ่ายปั๊บ vs ถ้าในวันที่โควิด-19 กลายเป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา) สมมติ ถ้ามีการคิดค้นยาที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนมองว่าโควิด-19 เป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไม่มีใครกลัวโควิด-19 อีกต่อไป ถึงจุดนั้น คนที่ซื้อประกันชนิดที่คุ้มครองแบบที่เจอปุ๊บจ่ายปั๊บ ก็คงยิ้มกันเป็นแถว จะติดเชื้อไปก็ไม่เป็นไร โดยเฉพาะคนที่กักตุนซื้อหลายๆ กรมธรรม์เอาไว้ ถึงจะไม่จงใจให้ไปติด แต่ก็จะไม่ระวังตัวอีกต่อไป จุดนี้ที่บริษัทประกันลืมคิดถึงการ overinsure ของลูกค้าไปตั้งแต่ตอนพิจารณารับประกันภัย และมองว่าถึงอย่างไรลูกค้าก็คงจะระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้ออยู่แล้ว สรุปว่าถ้าลูกค้าทำหลายๆ กรมธรรม์พร้อมกัน ประกอบกับความรุนแรงของโควิค-19 มันหายไปเมื่อไร มันจะเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทประกันจะขาดทุนมากมาย

จุดบอดที่ 3 (ถ้าเงินชดเชยต่อวันได้เงินมากกว่าค่าจ้างรายวัน)ประกันโควิด-19 บางแบบจะจ่ายผลประโยชน์แบบชดเชยรายวันเมื่อนอนโรงพยายาลไปด้วย ซึ่งหลักการของการประกันคือ ต้องการให้ลูกค้าได้รับค่าชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการสูญเสียรายได้ในชีวิตประจำวันไป. แต่ลองนึกภาพของวิกฤติเศรษฐกิจที่มีการตกงานกันมาก รายได้ประจำวันลดลงจากเดิมไปเยอะ. ถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมา การเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ก็คงอยากจะอยู่ให้นานที่สุด จากที่ปกติอยู่แค่ 10 วัน ก็อาจจะยืดขึ้นไปเป็น 15 วัน เพราะค่าชดเชยจากประกันจะมากกว่ารายได้ปกติ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้. จุดนี้เป็นจุดที่บริษัทประกันอาจจะลืมมองไป. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพวกที่ overinsure ยิ่งซื้อประกันโควิด-19 กันหลายฉบับ ก็ยิ่งได้รับค่าชดเชยรายได้ต่อวันที่สูงมาก จนบางคนแทบไม่อยากไปทำงานเลย เหตุการณ์ขาดทุนอย่างนี้เกิดได้บ่อยถ้าบริษัทประกันรีบขายจนเกินไป และไม่ได้พิจารณาการรับประกันภัยให้ดีก่อน

จุดบอดที่ 4 (ถ้าเบี้ยทุกอายุเฉลี่ยแต่ต้นทุนไม่เฉลี่ย)
ทุกอายุใช้อัตราเบี้ยเฉลี่ยเท่ากันหมด แต่ความจริงแล้วปัจจัยต้นทุนของการเคลมจะดูที่ “อัตราการติดเชื้อ” กับ “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ” ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองผู้สูงอายุที่สูงกว่า 70 ปี โดยที่คิดเบี้ยประกันเท่ากันทุกช่วงอายุนั้น จะถือว่าเสี่ยงกว่าบริษัทอื่นมาก โดยเฉพาะบางแห่งที่ขายประกันโควิค-19 ให้กับทุกอายุแต่คิดเบี้ยประกันของผู้สูงอายุเท่ากับอายุอื่นๆ โดยตั้งสมมติฐานว่าทุกอายุจะเข้ามาซื้อประกันในสัดส่วนพอๆ กัน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ซื้อประกันโควิด-19 ส่วนมากก็คือคนสูงอายุ และเมื่อต้นทุนของผู้สูงอายุเยอะกว่า ก็จะทำให้บริษัทประกันมีโอกาสขาดทุนได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติเรามีสินค้า 3 ชิ้น ต้นทุนชิ้นแรก 5 บาท ชิ้นที่สอง 10 บาท ชิ้นที่สาม 15 บาท ถ้าเราคิดว่าจะขายจำนวนชิ้นได้เท่าๆ กัน ก็หมายถึงต้นทุนต่อชิ้นเฉลี่ยตรงกลางเท่ากับ 10 บาท (5 + 10 + 15 หารด้วย 3) ก็เลยตั้งราคาขายไว้ที่ 12 บาท (กะว่าจะได้กำไร 2 บาท) แต่ตอนขายจริงๆ กลับมีแต่สินค้าชิ้นที่สามที่ขายออก ต้นทุน 15 บาท ราคาขาย 12 บาท (แปลว่าขาดทุน 3 บาทซะอย่างนั้น) และบริษัทประกันอาจจะเจอกับปัญหานี้อยู่ เพราะไปตั้งเป็นเบี้ยเฉลี่ยเท่ากันหมด

จุดบอดที่ 5 (สถิติเสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่ในทุก 100 ปี และถ้าวิวัฒนาการของไวรัสมันมีจริง)จากสถิติที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ในอดีต ในทุก 100 ปี จะมีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส 1 ครั้ง ที่จะทำให้ทุกคนทั้งโลกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งครั้งล่าสุดคือ ไข้หวัดสเปน ปี ค.ศ. 1918 (เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วพอดี) โดยในตอนนั้นมีคนเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ไวรัสได้มีการวิวัฒนาการและแบ่งออกเป็นระลอกคลื่น เช่น คลื่นลูกที่หนึ่ง สามารถติดต่อกันง่ายดาย คนที่ติดในระลอกแรกนั้นจะไม่เป็นอันตรายถึงตาย หรืออัตราการตายจะไม่สูง แต่พอเปลี่ยนเป็นคลื่นลูกที่สอง ความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้นจนสามารถทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากคลื่นลูกแรกนั้นกลับจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า และสุดท้ายก็เข้าสู่คลื่นลูกที่สาม ที่ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายมากขึ้นและทำให้คนตายมากขึ้นไปอีก ซึ่งตอนนี้เราอาจจะอยู่กันเพียงแค่คลื่นลูกที่หนึ่งเองก็ได้ และไวรัสกำลังซุ่มเงียบเพื่อแอบกลายพันธุ์อยู่ พร้อมรอที่จะเป็นคลื่นลูกที่สองและสามในไม่ช้า (ซึ่งก็ได้แต่ภาวนาขออย่าให้เป็นแบบนั้นเลย)

สุดท้ายแล้ว ไม่ได้หมายความว่าบริษัทประกันภัยจะขายประกันโควิดแล้วขาดทุน เพราะมันขึ้นกับว่าบริษัทประกันได้มองค่าเผื่อของความเสี่ยงเหล่านี้ไว้อย่างไร และได้สะท้อนลงไปในเบี้ยประกันภัยได้เพียงพอหรือไม่. ผู้ซื้อเท่านั้นที่จะเป็นคนตัดสินใจว่าประกันของค่ายไหน คุ้มหรือไม่คุ้ม. แต่ความเสี่ยงที่ผมทำนายไว้นั้นมันมีอยู่แน่นอน และต้องมองเกมส์ให้ขาด

© 2021 thairemark.com