กองทุนประกันชีวิต จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 (ปรับปรุง พ.ศ. 2551) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หรือกว่า 14 ปีมาแล้ว มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิต ซึ่งมีปลัดกระทรวง การคลังเป็นประธาน และรองเลขาธิการ คปภ. เป็นรองประธาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้เอาประกันภัย (เจ้าหนี้) ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย กรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต ให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพวิสัยทัศน์/พันธกิจ กองทุนประกันชีวิตได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “กองทุนประกันชีวิต เป็นที่พึ่งของผู้เอาประกันภัย พัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ” ด้วยจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตาม พรบ. ดังกล่าว ด้วยพันธกิจ 4 ประการ ดังนี้
- บริหารเงินกองทุน และเร่งรัดการคืนเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ล่วงพ้นอายุความ (ที่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์) ให้แก่ประชาชนอย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงาน
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของกองทุนประกันชีวิตให้มีการใช้ปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีส่วนขับเคลื่อนในการพัฒนาองค์กร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร รวมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
- ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการสร้างความตระหนักรู้และความเชื่อมั่นศรัทธาแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมไปกับความมั่นคงและเสถียรภาพ
- พร้อมทำหน้าที่เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี กรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต
ภาวะการปัจจุบัน กองทุนประกันชีวิตดำเนินการภายใต้ภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้กองทุนประกันชีวิตต้องเผชิญกับปัจจัยความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา อาทิ เศรษฐกิจมหภาค นโยบายประเทศไทย 4.0 ระบบราชการ 4.0 รัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนการแข่งขันในอุตสาหกรรมประภัยที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนประกันชีวิต และการมีผลบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ส่งผลให้ทุกหน่วยงานรัฐ รวมถึงกองทุนประกันชีวิตจะต้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดแรงผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
แผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ ประสบผลสำเร็จในระยะยาว ดังเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกองทุนฯ และปฏิบัติตามพันธกิจในสถานการณ์ปัจจุบันให้ก้าวหน้า และพัฒนาสู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือวิสัยทัศน์นั้น จึงต้องอาศัยแนวทางที่มุ่งเน้นสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ คือ “ประเด็นยุทธศาสตร์” อันเสมือน “แผนที่นำทาง” (Roadmap) สู่เป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
กองทุนประกันชีวิตจึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “ร่างแผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570)” ขึ้น เพื่อให้กองทุนประกันชีวิตมีทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ให้มีความชัดเจนภายใต้ความสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของกองทุนประกันชีวิต (SWOT Analysis) ภายใต้ภาวการณ์ปัจจุบัน โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารกองทุน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมประกันชีวิต จนได้ร่าง 4 แผนยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัย ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยให้ประชาชนและภาคเอกชน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัยเพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยและรูปแบบในการกำกับดูแลที่รองรับการดำเนินธุรกิจประกันภัย
การรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปีข้างหน้าหรือปี พ.ศ. 2566-2570 นี้ ได้รับความคิดเห็นอันเป็นภาพสะท้อน (Feedback) จากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียกับกองทุนฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากผู้ประกอบการและประชาชน ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมประกันชีวิต ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กองทุนประกันชีวิต ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นฉบับสมบูรณ์ต่อไป