Monday, 29 April 2024 - 10 : 23 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

สนค.เลิกตรึงดีเซล-ลอยตัวก๊าซ ดันราคาอาหาร-ของสดขยับขึ้นตาม

สนค.คาดเงินเฟ้อแนวโน้มสูงต่อเนื่องตามทิศทางราคาพลังงานกระทบต้นทุนสินค้า ชี้ยกเลิกตรึงดีเซล ลอยตัวก๊าซส่งผลราคาสินค้าปรับตาม ชี้เงินเฟ้อตลอดทั้งปีขยายตัว 4-5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 4.65 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น

นอกจากนี้ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 12.8 (YoY) ยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้

สำหรับสินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อมีอัตราเพิ่มขึ้น คือสินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 21.07 สินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 4.83 และสินนค้าอื่น ๆ ที่ปรับสูงขึ้น

ขณะที่สินค้าจำเป็นอีกหลายรายการราคายังคงลดลง อาทิ กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 3.64 กลุ่มผลไม้สด ลดลงร้อยละ 1.05 เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.17 การศึกษา ลดลงร้อยละ 3.14

ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.34 (MoM) ต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2565 จากปัจจัยราคาของผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลง ส่วนอาหารสำเร็จรูปบางรายการราคาสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมัน และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลราคา และการขอความร่วมมือภาคเอกชนตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 4.71 (AoA)

ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2565 สูงขึ้นร้อยละ 12.8 (YoY) ตามต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรสำคัญ จากอุปทานที่มีความตึงตัว ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 8.8 (YoY) สูงขึ้นในทุกหมวดสินค้าตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ ทั้งราคาน้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน และอลูมิเนียม ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิต ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.7 เทียบกับระดับ 43.8 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

นายรณรงค์ กล่าวถึง ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565

รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ ว่ายังเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 – 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

© 2021 thairemark.com