“คลัง” แจงสถานะหนี้ประเทศเดือน ธ.ค.2564 พุ่งพรวดแตะ 9.64 ล้านล้านบาท คิดเป็น 59.57% ของจีดีพี พร้อมเปิดตัวเลข 3 เดือนแรกปีงบ 2565 กู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ และบริหารหนี้สาธารณะทะยาน 5.8 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เผยแพร่รายงานรายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ 31 ธ.ค.2564 พบว่า มีหนี้ 9,644,256 ล้านบาท คิดเป็น 59.57% ของจีดีพี เทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 59.58% ของจีดีพี เนื่องจากมูลค่าจีดีพีมีการปรับเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการคลายล็อกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.-ธ.ค.2565) มีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้ถึง 5,874,905 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.COVID-19 พ.ศ.2563 อยู่ที่ 873,171 ล้านบาท จากกรอบที่ให้กู้ได้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกู้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ เนื่องจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวนมากที่ขอเงินกู้ไว้ดำเนินการไม่ทัน ทำให้ต้องคืนเงินกู้กลับไป ขณะที่การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.COVID-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 กู้ไปแล้ว 273,166 ล้านบาท ใกล้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยการกู้เงินจะต้องกู้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี เป็นต้องไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้รัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี