ธปท.ระบุแบงก์พาณิชย์ปี 63 ยังแข็งแกร่ง มีเงินกองทุน เงินสำรอง สภาพคล่องสูง หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด–19 ได้ แม้กำไรลดลง 46% ส่วนสินเชื่อปี 63 พลิกโต 5.1% หลังธุรกิจรายใหญ่ หนีตลาดตราสารหนี้ หันซบแบงก์พาณิชย์
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 63 ว่า มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้ แม้ผลประกอบการลดลงเพราะกันสำรองในระดับสูงต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับผลกระทบของโควิด-19 ต่อคุณภาพสินเชื่อ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 20.1% เงินสำรอง 799,100 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 149.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ อยู่ที่ 179.6% มีกำไรสุทธิ 146,200 ล้านบาท ลดลง 46% จากปีก่อน
นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 63 เพิ่มขึ้น 5.1% จากปี 62 ที่ขยายตัว 2.0% เป็นผลจากสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัว 5.4% จากปี 62 ที่หดตัว 0.8% เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 63 ซึ่งสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยผันผวนมาก ส่งผลให้ปี 63 สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มถึง 13.1% ด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หดตัวในอัตราที่ลดลง โดยติดลบ 2.8% แต่หากไม่รวมการปล่อยสินเชื่อมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) พบว่า ปี 63 สินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบถึง 5.9%
ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 4.6% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.5% สอดคล้องกับกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อทยอยดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 17.6% เพราะตลาดที่อยู่อาศัยยังมีแรงซื้ออยู่ ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ชะลอลงจากปีก่อน โดยสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่ม 7.3% และสินเชื่อรถยนต์เพิ่ม 8.9% แต่สินเชื่อบัตรเครดิตลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 10.1% เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัว
“ผลจากลูกหนี้ส่วนหนึ่ง ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 523,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 3.12% จาก 2.98% ในปี 62 เพราะธนาคารพาณิชย์บริการจัดการหนี้เสียที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สัดส่วนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% มาอยู่ที่ 6.62% ซึ่ง ธปท. จะติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด”
อย่างไรก็ตาม ธปท.กังวลมากที่สุด คือ การด้อยคุณภาพของสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.84% ของสินเชื่อรวม ขณะที่เอ็นพีแอลธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 2.58% เช่นเดียวกับเอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยแนวโน้มเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างแก้ไขเกณฑ์การปล่อยซอฟต์โลน เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้มากขึ้น