นายวิทัย รัตนากร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารออมสิน ระบุว่า ในปี 2566 ธนาคารออมสินมีแผนจะเจาะตลาดที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank อย่างเต็มที่ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 5% หรืออยู่ที่ 20% โดยธนาคารออมสินจะตั้งบริษัทลูกเพื่อเพิ่มการแข่งขันและลดอัตราดอกเบี้ยในตลาด เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนของสถาบันการเงิน หรือมีปัญหากับเงินกู้นอกระบบ
ทั้งนี้รูปแบบธุรกิจของธนาคารออมสินจะเป็นแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัล ภายใต้ชื่อ Mymo หรือ มายโม่ (แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือของ ธนาคารออมสิน) ขณะที่วงเงินสินเชื่อจะอยู่ที่ 10,000-30,000 บาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 1-1.25% ต่อเดือน โดยจะเน้นฐานลูกค้าเดิมวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เบื้องต้นตั้งเป้าลูกค้า 1 แสนรายซึ่งปัจจุบันทั้งสิ้น 13 ล้านคน
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ มีมุมมองลบต่อหุ้น”กลุ่มนอนแบงก์” มองกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือผู้เล่นรายใหญ่ร่วมวงแข่งขันด้านราคา โดยระบุว่า แผนของธนาคารออมสินจะเป็นแนวโน้มเชิงลบต่อผู้เล่นกลุ่ม non-bank อย่าง บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) , บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD), บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK), บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG), บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) และ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) ที่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้า
“การแข่งขันจากธนาคารออมสินเพียงเจ้าเดียว อาจจะไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากมีผู้เล่นรายใหญ่บางรายเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่อย่างธนาคารออมสิน เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งชันด้านราคาอีกครั้ง สำหรับกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล สถานการณ์อาจคล้ายกับการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์จำนำทะเบียนรถยนต์ หลังจากที่ธนาคารออมสินได้จัดตั้งธุรกิจร่วมทุน (]V) กับ SAWAD เมื่อปี 2564 และ MTC เป็นผู้เล่นรายแรกที่ลดอัตราดอกเบี้ย” บทวิเคราะห์ ระบุ