Sunday, 4 May 2025 - 6 : 26 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

หอการค้าสุราษฎร์ฯ ยื่น 4 ข้อเสนอด่วน ‘หอการค้าไทย’ เร่งฝ่าวิกฤตภาษี ทวงคืนผู้นำส่งออกกุ้งของโลก

หอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยื่นข้อเสนอด่วนถึงประธานกรรมการหอการค้าไทยและกรรมการชุดใหม่ จี้เร่งบูรณาการแก้วิกฤตการส่งออกกุ้งไทย หลังเจอโรคระบาดรุมเร้า ตลาดหลักหดตัวหนัก เหตุภาษีสูงจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตัดสิทธิ์ GSP ทำสูญเสียตลาดเกือบสิ้นเชิง ขณะที่ศักยภาพการผลิตยังเข้มแข็ง มีมาตรฐานสากลรองรับ พร้อมเปิดช่องเจรจา FTA–ลดภาษีแลกเปิดตลาดอาหารสัตว์ ชี้ถึงเวลาต้องเดินเกมรุก หวังทวงคืนสถานะผู้นำอาหารทะเลโลก 

นายเกษียร ไลยโฆษิต ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ส่งสัญญาณถึงหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้เร่งเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาอุปสรรคด้านการค้าอย่างหนัก

อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยมีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด คือ โรคกุ้ง โดยเฉพาะโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) ขณะที่ราคามีทิศทางตกต่ำ โดยคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปี 2568 จะใกล้เคียงปี 2567 ที่ไทยส่งออกกุ้งได้ประมาณ 120,000-130,000 ตัน มูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกระทบต่อผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่คู่แข่งสำคัญ เช่น เอกวาดอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก มีผลผลิตเฉลี่ย 1.3-1.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งไทยมีเป้าหมายจะเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงให้ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดให้ได้ 400,000 ตัน ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อผลักดันส่งออกกุ้งไทยกลับมาโตอีกครั้ง

ทั้งนี้ ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ยื่นข้อเสนอ 4 ประการ ต่อหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันนโยบายและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภาคการเกษตรที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศมายาวนาน ได้แก่ 1. แก้ปัญหาโรคระบาดในฟาร์มกุ้ง นับตั้งแต่ปี 2553 อุตสาหกรรมกุ้งไทยได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในวงกว้าง ส่งผลให้การผลิตกุ้งลดลงจากเดิมเกือบ 600,000 ตัน เหลือเพียง 250,000-280,000 ตันต่อปี ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม อินเดีย และเอกวาดอร์

เกษียร ไลยโฆษิต ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี

2. ส่งเสริมการตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งไทยจำเป็นต้องรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเร่งขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ จีน และอาเซียน พร้อมทั้งยกระดับตลาดภายในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

3. ผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย–สหภาพยุโรป (Thailand-EU Free Trade Agreement) หลังสินค้ากุ้งของไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากอียูในปี 2557 การส่งออกกุ้งลดลงอย่างรุนแรงจาก 60,000 ตัน เหลือไม่ถึง 1,000 ตันต่อปี จึงควรเร่งผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เพื่อขอลดภาษีนำเข้าสินค้ากุ้ง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทวงคืนส่วนแบ่งตลาด

4. ลดผลกระทบจากภาษีนำเข้ากุ้งจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกกุ้งใหญ่เป็นอันดับสองของไทย คิดเป็น 21% ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมด กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% (Reciprocal Tariffs) แม้สหรัฐฯจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน ก็ตาม ไทยควรมีมาตรการและแนวทางต่อรองที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการผลิตและส่งออกของประเทศ

“สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเกษตรกรสุราษฎร์ธานีเท่านั้น แต่ต้องการให้หอการค้าไทยมองปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงระบบของอุตสาหกรรมกุ้งทั้งประเทศ เพราะเรามีศักยภาพที่จะกลับมาเป็นผู้นำด้านอาหารทะเลคุณภาพระดับโลกได้อีกครั้ง หากมีมาตรการสนับสนุนที่ถูกทิศทางและทันเวลา” นายเกษียร กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ข้อเสนอหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การเปิดตลาดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และเมล็ดถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้ากุ้งและสินค้าอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อไทย แต่จะต้องกำหนดมาตรการปกป้องเกษตรกรไทยอย่างเหมาะสม

นอกจากข้อเสนอเชิงนโยบายแล้ว ล่าสุดกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เปิดฟาร์มต้อนรับคณะทูตจากสหราชอาณาจักร เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระบบการเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดสารตกค้าง ที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับสากล ซึ่งช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในอังกฤษ และจะเป็นประตูสำคัญในการขยายการส่งออกกุ้งเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปอีกทางหนึ่ง

© 2021 thairemark.com