Wednesday, 25 December 2024 - 9 : 22 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

แนะของดีวิสาหกิจชุมชนบ้านหมี่ ลพบุรี แปรรูปด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันประกอบธุรกิจระดับชุมชนในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคง ได้รับการรับรองตามกฎหมาย โดยดำเนินการส่งเสริมถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชน ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการ การบัญชี ภาษีอากร และการตลาด เพื่อสร้างรายได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน ช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการของหน่วยธุรกิจที่สูงขึ้น รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอย่างครบวงจร

ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาทักษะกรรมการบริหารวิสาหกิจชุมชน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ (ผู้ประกอบการ) ในการประกอบธุรกิจเชิงรุก สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน พัฒนาแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรแปรรูป และการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548

รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดลพบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีได้ดำเนินการส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพต่อยอดภูมิปัญญาด้านการผลิตแปรรูปสินค้าเกษตร ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ และสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการตลาด ทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์ สำหรับอำเภอบ้านหมี่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ทำให้มีผลผลิตด้านการเกษตรจำนวนมาก ชาวบ้านหมี่มีภูมิปัญญาพื้นบ้านในการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้บริโภคในฤดูขาดแคลนและจำหน่ายสร้างรายได้ จนพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมี่จึงเข้าไปสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรที่มีความเข้มแข็ง ตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น

ประกอบด้วย 1) วิสาหกิจชุมชนปลาส้มฟักประกอบจิตร์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 105 หมู่ 5 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ประกอบกิจการมานานกว่า 40 ปี เป็นต้นตำรับผู้พัฒนาให้เป็นอาหารประจำถิ่นบ้านหมี่ อย่างเช่น ปลาส้มฟัก ถ่ายทอดวิธีการผลิตให้กับชุมชนต่างๆ รวมทั้งยังพัฒนาวิธีการและรูปแบบถนอมอาหารหลากหลายชนิดและการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ 4 ดาว และได้รับรองมาตรฐาน อย. สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น โดยเน้นใช้วัตถุดิบและแรงงานในท้องถิ่น ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกลุ่มปลาส้มและหมูส้มรวมต่อเดือนประมาณ 4,400 แพ็ค และหมี่กรอบชาววัง 5,000 แพ็ค นอกจากมีหน้าร้านจำหน่ายสินค้าเองแล้ว ยังมีช่องทางจำหน่ายทางเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ซึ่งมียอดจำหน่ายปลาส้มฟักเฉลี่ยเดือนละกว่า 300 แพ็ค และหมี่กรอบชาววังเดือนละ 5,000 แพ็ค รวมทั้งช่องทางออนไลน์อื่น อาทิ Shopee Lazada และ Facebook: ปลาส้มประกอบจิตร์ หรือติดต่อโดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 091 – 8780023

2) วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้านตำบลบ้านทราย ตั้งอยู่ที่เลขที่ 36 หมู่ 5 ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งพัฒนาจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 10 ราย ที่รวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อหารายได้เสริมในครัวเรือน จนปัจจุบันมีสมาชิก 29 ราย ประกอบกับกระแสความนิยมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร และด้วยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมี่นำไปศึกษาดูงานแหล่งผลิตที่มีศักยภาพ จึงสนใจที่จะนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปสมุนไพรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเริ่มดำเนินการรวมหุ้นกันเพื่อนำมาเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม เน้นแปรรูปสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น

อาทิ เซรั่มหมักผมบอระเพ็ด น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แชมพูสมุนไพรดอกอัญชัน สบู่น้ำมันธรรมชาติ สเปรย์กันยุงสมุนไพร ปัจจุบันต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ ยาหม่อง น้ำมันเหลือง น้ำมันเขียว และมูลไส้เดือน/ดินพร้อมปลูกผสมมูลไส้เดือน ได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และอยู่ระหว่างการขอรับรองเลขจดแจ้ง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย มีกำลังการผลิตเฉลี่ยต่อเดือนโดยประมาณ แชมพูสระผมสมุนไพร 200 ขวด ยาหม่องสมุนไพร 500 ขวด น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น 50 ขวด สบู่น้ำมันธรรมชาติ 100 ก้อน มูลไส้เดือน 200 ถุง และดินพร้อมปลูกผสมมูลไส้เดือน 200 ถุง ผู้สนใจผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อผ่านช่องทางจำหน่ายออนไลน์ Facebook: สมุนไพรบ้านทราย และคุณนายไส้เดือน YouTube : ความงามของสมุนไพร ทางไลน์ : sinee711 หรือติดต่อโดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 080 – 6697197

เนื่องในเทศกาลปีใหมที่กำลังจะมาถึง กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจเลือกซื้อสินค้าแปรรูปด้านการเกษตรคุณภาพดีของวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นของขวัญของฝากส่งให้กับครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนฝูง สามารถเลือกซื้อสินค้าได้จากหน้าเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com

© 2021 thairemark.com