Thursday, 21 November 2024 - 6 : 24 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

GPSC เผยกำไรสุทธิ 9 เดือน 3,063 ล้านบาท ชูฐานะการเงินแกร่ง

GPSC  เผยผลประกอบการ 9 เดือน กว่า 3 พันล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิไตรมาส 3/2567 จำนวน 770 ล้านบาทลดลงร้อยละ 46เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 เหตุจากปัจจัยของฤดูกาล ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแปลงค่าลูกหนี้สัญญาเช่าทางการเงิน  ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น  สำหรับงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 3,063 ล้านบาท โดยกำไรขั้นต้นสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีต้นทุนของก๊าซธรรมชาติลดลง   

 นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 20,912 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 770  ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 เนื่องจากไตรมาส 3 เป็นช่วงฤดูฝนทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าไตรมาส 2 ซึ่งเป็นฤดูร้อน ประกอบกับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) หยุดซ่อมบำรุงตามแผน ค่าเงินบาทแข็งขึ้นในไตรมาส 3/2567 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้การแปลงค่าลูกหนี้สัญญาเช่าทางการเงิน (อ้างอิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลง และเกิดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่เกิดขึ้นจริง  สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าเพิ่มขึ้น จากโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี (XPCL) มีผลประกอบการดีขึ้นจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามปริมาณน้ำที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามฤดูกาล แม้ว่ามีการหยุดการผลิตชั่วคราว 17 วัน สาเหตุจากความแตกต่างของระดับน้ำด้านเหนือและท้ายโรงไฟฟ้าลดน้อยลงอย่างมาก

ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,063 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนในปี 2566  แม้ว่าผลการดำเนินงานหลักจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า SPP ที่มีต้นทุนของก๊าซธรรมชาติและถ่านหินลดลงแม้ว่าค่า Ft ลดลง รวมทั้งปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการรับรู้ผลการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 313 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของลูกหนี้สัญญาเช่าทางการเงินของโรงไฟฟ้า เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ต้องเผชิญปัจจัยลบที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน และภัยธรรมชาติ แต่บริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งทางด้านภาคการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินที่ยังแข็งแกร่ง เพื่อรองรับการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจในระยะยาวตามแผนกลยุทธ์ 4S ได้แก่  S1 สร้างความแข็งแกร่งพร้อมขยายการให้บริการให้ธุรกิจหลัก (Strengthen and Expand the Core)  S2 การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Scale-Up Green Energy)  S3 การลงทุนด้านนวัตกรรมจากธุรกิจใหม่ (New S-curve) และ  S4 บริการโซลูชั่นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Shift to Customer-Centric Solutions) อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย และตอบโจทย์ Net Zero Emissions ในปี 2603

สำหรับความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียของบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ AEPL ที่ GPSC มีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 42.93  ที่ได้รับสัมปทานการผลิตไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐบาลของอินเดีย รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นประมาณ 17,350 เมกะวัตต์ ส่วนการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน (CFXD) ปัจจุบันได้รับมอบงานจากผู้รับเหมาร้อยละ 95

© 2021 thairemark.com