Saturday, 21 December 2024 - 10 : 12 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘เอสเอ็มอี’ติดหนี้กระฉูด 60% ส่อผิดนัดจ่ายเงินพุ่งลิ่ว

สสว.เผยสถานการณ์เอสเอ็มอี Q3/66 หนี้กระฉูด โตจากไตรมาสก่อนถึง 60.3% หวั่นความสามารถชำระหนี้ดิ่ง ส่อแววผิดนัดจ่ายเงินเพิ่ม จี้รัฐหาเงินกู้ดอกต่ำพิเศษ พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยขยายระยะเวลาชำระ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้สำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการ ไตรมาส 3/2566 ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีภาระหนี้สินในไตรมาส 3 เทียบจากไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นถึง 60.3% ส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยเฉพาะสาขาบริการ ด้านการขนส่งสินค้า ร้านอาหาร การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นมากนัก

สำหรับแหล่งกู้ยืมของธุรกิจเอสเอ็มอี 66.2% กู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอีก 33.8% มาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจภาคการค้า โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ใช้บริการจากแหล่งนี้และเป็นการกู้ยืมจากเพื่อน ญาติพี่น้องมากที่สุด ตามข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

“จากผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกือบ 90% กู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รองลงมากู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนและการชำระหนี้เดิม โดยเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินอยู่ในช่วง 50,000-500,000 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามขนาดของธุรกิจ”นายวีระพงศ์ กล่าว

ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 30% ประเมินว่าระยะเวลาสัญญาเงินกู้ของเอสเอ็มอีที่ได้รับยังสั้นเกินไป ส่งผลกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ แต่ยังมีเอสเอ็มอีอีก 20% ที่มีแผนจะกู้ยืมในอนาคต เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ แม้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 75% กำลังเผชิญปัญหาด้านการเงิน และภาระหนี้สิน ทั้งการมีสภาพคล่องลดลง อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แม้เอสเอ็มอีเกือบ 50% ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา แต่เอสเอ็มอี 38.4% เริ่มผิดเงื่อนไขการชำระหนี้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

นายวีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสำคัญมากที่สุดในด้านหนี้สินของเอสเอ็มอี คือ อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เป็นภาระและความเสี่ยงด้านต้นทุนและการลงทุนในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีต่อเนื่อง คือ ขั้นตอนการกู้ยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารหลักฐานสำคัญจำนวนมาก และอนุมัติล่าช้า ขาดความรู้ในการจัดการบริหารการเงินและหนี้สิน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยหรือการได้รับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ รวมถึงการลดเงื่อนไขการยื่นขอเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อ การมีสถาบันการเงินสำหรับธุรกิจรายเล็กหรือรายย่อยโดยเฉพาะ การขยายระยะเวลาชำระหนี้

© 2021 thairemark.com