Thursday, 12 September 2024 - 4 : 18 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

จังหวัดน่าน ร่วมมือทุกเครือข่าย เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ “กำแพงเมืองเก่า – คูเมืองน่าน” ต่อเนื่องทุกปี เชื่อมโยงประวัติศาสตร์กับวิถีชีวิตคนน่าน บันดาลใจและไอเดียสร้างเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 และเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน บูรณาการความร่วมมือกับ กรมธนารักษ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน นำเสนอ “หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงสายน้ำน่าน” Crafts and Folk Art in Water โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ เทศบาลเมืองน่าน ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน ททท.สำนักงานน่าน สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือข่ายผู้ประกอบการงานหัตถกรรมและศิลปะ ชุมชนบ้านมงคล ตำบลในเวียง ร่วมกันสร้างบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต และเปิดพื้นที่แสดงศักยภาพศิลปวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ กระตุ้นการท่องเที่ยวและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2566

ด้วย “กำแพงเมืองน่าน” เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่แสดงร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในอดีตครั้งยังเป็นนครรัฐ และสะท้อนถึงการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันกำแพงที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มีความยาวเพียง 25 เมตร สูง 5 เมตร เป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ บริเวณถนนมหาวงศ์เชื่อมต่อกับถนนอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. 2536 กรมศิลปกรได้บูรณะปฏิสังขรณ์แนวกำแพงดังกล่าวและส่วนที่ทรุดโทรมได้ทั้งสิ้น 415 เมตร และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 กำแพงเมืองน่าน ถือเป็นที่หลวง มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นที่ราชพัสดุซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย

สภาพที่ตั้งของกำแพงเมืองน่าน – คูเมืองน่าน อยู่ท่ามกลางชุมชนบ้างมงคล ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน อยู่ติดกับวัดมงคล และรอบล้อมไปด้วยเส้นทางถนนในเขตเทศบาลเมืองน่านทั้งเส้นหลักเส้นรอง ภายในบริเวณแนวกำแพงเมือง มีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มเงาและร่มรื่น มีทางเดินปูด้วยอิฐทอดตัวรับกับตัวกำแพงเมือง เก้าอี้ม้านั่งที่ทางเทศบาลเมืองน่าน ได้จัดหาไว้ให้ กลายเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจของคนน่านและนักท่องเที่ยว ความสวยงามและความสำคัญของกำแพงเมืองเก่าน่าน ทำให้ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. ธนารักษ์พื้นที่น่าน เทศบาลเมือง ททท.สำนักงานน่าน และชุมชนบ้านมงคล มีความพยายามเปิดพื้นที่ “กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน” ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นอีกแลนด์มาร์ค สำหรับคนน่านและนักท่องเที่ยว

นางศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 เล่าว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดได้มีการหารือพูดคุยกันถึงแนวทางการพัฒนาและสร้างพื้นที่สร้างสรรค์บริเวณ กำแพงเมือง – คูเมืองน่าน เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย พื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ต้องการให้ทรุดโทรมรกร้าง แม้จะมีชุมชนบ้านมงคลและทางเทศบาลเมืองน่านดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด การติดไฟเพื่อให้แสงสว่าง และเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้สัมผัสถึงความสำคัญของกำแพงเมือง ได้ชื่นชมความสวยงามของโบราณสถานที่ยังสมบูรณ์ ศักยภาพของพื้นที่ซึ่งมีลานกว้าง ประกอบกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสวยงาม และการเข้าถึงได้ง่ายเนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ใจกลางเมืองและชุมชน

โดยการบูรณาการของทุกฝ่าย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19-21 มีนาคม 2564 ภายใต้แนวคิด “กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน” เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ในบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต การเปิดกาดกำแพงเมืองครั้งนั้น ได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนที่มาเที่ยวชมงาน ทำให้เกิดกิจกรรมแอ่ว “กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน” ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 4 – 5 มีนาคม 2565 ภายใต้แนวคิด Creative Lighting “จุดไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์ แสงสีแห่งกำแพงเมืองเก่าน่าน” ความสวยงามยามค่ำคืนแห่งแนวกำแพงเมืองเก่า และความร่วมมือของทุกหน่วย ทำให้มีการโพสต์และแชร์ มุมสวยงามของกำแพงเมืองน่านทั้งช่วงแสงกลางวันและแสงสีไฟในยามกลางคืน การเดินหน้าพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้เทศกาลน่านบันดาลใจ “กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน” นำเสนอ “หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงสายน้ำน่าน” Crafts and Folk Art in Water ยังคงเน้นย้ำสร้างภาพจำการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยมีแผนดำเนินงานให้พื้นที่สร้างสรรค์ “กำแพงเมืองเก่า – คูเมืองน่าน” เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี

นายธนากร แสนคำ ที่ปรึกษากองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน กล่าวว่า การได้ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน ทั้งสามครั้ง ต่อเนื่องทุกปี ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เยาวชนของเมืองน่านจะได้เรียนรู้และพัฒนาการทำงานทั้งของตนเองและการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ หน่วยงานต่างๆ จากครั้งแรกๆที่ รู้สึกว่างานมีความยากซับซ้อน ก็กลายเป็นความท้าทายในการแก้ปัญหา เพื่อเป้าหมายให้งานบรรลุผลสำเร็จให้ได้ กลายเป็นบทเรียนที่สอนให้น้องๆ เยาวชนของกองทุนฯ หรือ DNYC มีทักษะการทำงาน ทั้งการเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองเพื่อให้ทีมทำงานได้อย่างคล่องตัว ทักษะการประสานงาน ทั้งหมดคือประสบการณ์ที่มีคุณค่า น้องๆ เยาวชนในกองทุนฯหลายคน นำประสบการณ์เหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในรั้วโรงเรียน ในรั้วมหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในรูปแบบของตัวเอง ที่สำคัญคือความรักความผูกพันความเหนี่ยวแน่นของคำว่า เยาวชน DNYC

นางสาวกนกนันท์ คำอุตตา ประธานกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน รุ่นที่ 8 ได้ร่วมคิดงานและร่วมดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน ทุกๆ ครั้งก็คิดธีมและคอนเซ็ปต์ของกิจกรรม รายละเอียด การวางแผนงาน การประสานงาน โดยหลักๆ ของน้องๆ เยาวชน ก็เป็นเรื่องกาดหมั้วคัวละอ่อน การจัดนิทรรศการ การแสดงบนเวที เป็นพิธีกร และจัดการประกวดต่างๆ เช่นประกวดวาดภาพ ประกวดดนตรีโฟล์คซอง ที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนเมืองน่านได้แสดงศักยภาพของตัวเองส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน และน้องๆ ยังได้ฝึกทักษะ นำผลิตภัณฑ์ ขนม อาหาร มาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า มีรายได้ด้วย

ทั้งนี้ การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ กำแพงเมืองเก่า – คูเมืองน่าน ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างเศรษฐกิจ สร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณกำแพงเมือง-คูเมือง ให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนอย่างเหมาะสม เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัยภายใต้บรรยากาศเมืองเก่าที่มีชีวิต และแสดงความพร้อมการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน

© 2021 thairemark.com