เมื่อเวลา17.30น.วันที่ 31 มี.ค.2566 ที่สะพานอัษฎางค์ “พระจุฑาธุชราชฐาน” อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีพร้อมนางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ ปลัดจังหวัดชลบุรี นางดารัตน์ สุรักขกะ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายนันทวัฒน์ ทองช่วง นายอำเภอเกาะสีชัง นายสมศักดิ์ จุฑาวงษ์กุล นายอำเภอบ้านบึง นายสรศักดิ์ เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง คณะกรรมการและสมาชิกกาชาดจังหวัดชลบุรี ร่วมแถลงข่าวงานนมัสการ พระพุทธสิหิงค์ฯ งานกาชาด และงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่11-19 เมษายน 2566 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี ก่อนการแถลงข่าวได้มีการแสดงรำไทยของเด็กนักเรียนเกาะสีชังและการแสดงหุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์)สร้างสีสันให้กับการแถลงข่าว
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่าก่อนอื่นขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาของการจัดงานประจำปี ซึ่งเริ่มแรกได้มีการจัดงานประจำปี เมื่อ พ.ศ. 2475 เรียกว่า “งานฉลองสันติภาพ” เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดงานหนึ่งของภาคตะวันออก ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 จังหวัดชลบุรีได้มีการจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวชลบุรี คณะกรรมการจัดงานในครั้งนั้นจึงได้ผนวกรวมกับการจัดงานฉลองสันติภาพ และใช้ชื่องานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับในการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นปีที่ 91 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 – 19 เมษายน 2566
การจัดงานนมัสการ พระพุทธสิหิงค์ฯ งานกาชาด และงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี ในครั้งนี้จัดตั้งแต่วันที่ 11 – 19 เมษายน 2566 ซึ่งในวันที่ 11 เมษายน 2566 จะจัดให้มีพิธีเปิดงานบริเวณหอพระพุทธสิหิงค์ฯ ในเวลา 19.00 น. โดยจะมีการแสดงน้ำพุดนตรีประกอบเพลง และการแสดงน้ำพุดนตรีประกอบเพลงจะเปิดให้ประชาชนให้รับชมตั้งแต่วันที่ 11 – 16 เมษายน วันละ 4 รอบ รอบละประมาณ 15 นาที ในช่วงเวลา 19.00 น. 20.00 น. 21.00 น. และเวลา 22.00 น. นอกจากนั้นในวันที่ 11 เมษายน ยังมีการประกวดนางสงกรานต์ และนางสงกรานต์จำแลง ในส่วนของวันที่ 12 เมษายน จะมีการเดินแบบการแต่งกายด้วยผ้าไทย เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นไทย ให้ดำรงคงอยู่ พร้อมปลุกเศรษฐกิจชุมชน
อีกทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และวันที่ 13 เมษายน จะมีการจัดขบวนแห่สงกรานต์ ซึ่งจะเป็นการแสดงอัตลักษณ์ประจำถิ่นของจังหวัดชลบุรี อาทิ ขบวนแห่สถาบันที่แสดงถึงชาวจังหวัดชลบุรีมีความรักและเทิดทูนต่อสถาบันหลักของชาติ ขบวนแห่การละเล่นสงกรานต์ แสดงถึงวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่ขบวนที่แสดงถึงความเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่พร้อมรับนักลงทุนทั่วประเทศมาลงทุนในจังหวัดชลบุรี
และขบวนแห่ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของดีของจังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังมีการออกร้าน การจัดนิทรรศการของอำเภอ ส่วนราชการและเอกชน การออกร้านจำหน่ายเครื่องอุปโภค บริโภค การแข่งขันกีฬาไทยและสากล และการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินดังทุกค่ำคืนในช่วงวันที่ 11 – 19 เมษายน 2566 และสามารถร่วมสนุก ลุ้นรางวัลใหญ่ได้ที่ร้าน “มัจฉากาชาด” ลุ้นของรางวัลมากมาย อาทิ รถจักรยานยนต์ ตู้เย็น และโทรทัศน์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดชลบุรีไปร่วมทำบุญ และลุ้นโชคอีกด้วย
การจัดงานแถลงข่าวที่สะพานอัษฎางค์ ในครั้งนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของ “พระจุฑาธุชราชฐาน” ซึ่งเป็นพระราชวังบนเกาะเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย โดยสร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.2432 และใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของรัชกาลที่ 5 และพระราชวงศ์มาโดยตลอด และยังขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็นสถานที่ตากอากาศและพักฟื้นยอดนิยม ใครเจ็บป่วยไม่แข็งแรงเมื่อได้มาพักผ่อนพักฟื้นที่นี่อาการก็จะทุเลาลง ซึ่งขณะนี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คงเสน่ห์ความคลาสสิคมาจนปัจจุบัน ได้แก่ เรือนไม้ริมทะเล ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ ตึกวัฒนา พระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิต และสะพานอัษฎางค์ โดยเฉพาะสะพานอัษฎางค์ ที่เป็นดังสัญลักษณ์ของเกาะสีชัง
ด้านนางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี กล่าวว่ากิจกรรมภายในงานนมัสการ พระพุทธสิหิงค์ฯ งานกาชาด และงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี ช่วงระหว่างวันที่11-19 เมษายน 2566 โดยทางเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรีมีกิจกรรมจัดให้มีการช้อนมัจฉากาชาด ภายในร้านมัจฉากาชาดจะมีการจำหน่ายบัตรซ้อนมัจฉาฯในราคา 20 บาท จะมีรางวัลในหมวด ก ข ค ง ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าราคาบัตร เช่น น้ำมัน น้ำปลา ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ ยังมีการลุ้นรับรางวัลพิเศษ เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลม เตารีด เตาไมโครเวฟ เป็นต้น
ทั้งนี้กาชาดจังหวัดชลบุรีได้รับมอบสิ่งของบริจาคทั้งเงินและของรางวัลจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน องค์กร ต่าง ๆ และนำรายได้จากการออกร้านมัจฉากาชาดมอบให้เหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรม อันเป็นสาธารณกุศลให้ความช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ ผู้ด้อยโอกาส ทางสังคม ผู้พิการ คนชรา เช่น โครงการสนับสนุนสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ยากไร้ โครงการมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนเรียนดีแต่ยากจน และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นต้น
ในนามเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรีมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะคืนความสุขกลับสู่พี่น้องประชาชน ตามสโลแกนในการออกร้าน “มัจฉากาชาดจังหวัดชลบุรี” คือ “ขาดทุนคือกำไร ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” ซึ่งร้านมัจฉากาขาดจะอยู่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี