Saturday, 21 December 2024 - 11 : 52 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

“เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี”ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หญิงรทสช.ดันกม.สิทธิสตรีเท่าเทียม หวังลดล่วงละเมิดออนไลน์

“รัดเกล้า สุวรรณคีรี” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หญิงพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมงานเสวนาสิทธิสตรีและเยาวชน แสดงวิสัยทัศน์หวังผลักดันผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ลั่นพร้อมผลักดัน กม.การล่วงละเมิดทางเพศบนโลกไซเบอร์ ระบุประเทศไทยติดอันดับ 2 ที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดออนไลน์มากที่สุดในโลก

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี หรือเนเน่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสไปร่วมงานเสวนาเรื่องสิทธิสตรีและเยาวชน จัดขึ้นโดย มูลนิธิเพื่อนหญิงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ภายในงานมีการนำเนื้อหาจากงานวิจัยเรื่อง “การเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิงในภูมิภาคอาเซียน โดย Westminster Foundation for Democracy (WFD)” มาระดมสมองร่วมกันหาแนวทางทำงานเพื่อเปิดโอกาสความเท่าเทียมในการทำงานด้านต่างๆ ในสังคม และในงานวิจัยดังกล่าวมีการกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับ สัดส่วนตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมืองที่ระบุว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีการเสนอให้มีการตั้ง Gender Quota หรือการตั้งโควตาให้ผู้หญิงมีจำนวนมากขึ้นในพรรคการเมือง และในการเลือก รวมถึงการเข้าถึงตำแหน่งและบทบาทสำคัญในทางการเมืองอีกด้วย

นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในตัวแทนของผู้หญิงที่มีความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาทำงานด้านการเมืองเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะที่ดี และยังสอดคล้องกันแนวคิดที่หลายๆ สถาบัน และองค์กรที่เรียกร้องมาโดยตลอด ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีปณิธานที่สำคัญ คือ การสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม สอดคล้องกับความเชื่อและความตั้งใจของตนในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งด้วยเช่นกัน และหวังว่าจะเข้ามาขับเคลื่อนงานด้านนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย

สำหรับ ในประเด็นเรื่องของสัดส่วนของผู้หญิงในการทำงานด้านการเมืองนั้น เห็นว่า ควรมีการดูแล “เพิ่มอัตราส่วนของคนทำงานเพศหญิงให้อยู่ในอัตราส่วนที่เท่าเทียมกันกับผู้ชาย” เพราะหากดูตามข้อมูลประชากร ก็พบว่ามีประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 1.5 ล้านอยู่แล้ว ดังนั้น หากให้ความเป็นธรรมและมองตามหลักการสัดส่วน จึงคิดว่าอัตราส่วนของคนทำงานเพศหญิงควรจะมากกว่าด้วยซ้ำ โดย องค์กรภาครัฐต่าง ๆ รวมไปถึงในการเข้าดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่าง ๆ ทางการเมือง ทั้งในระดับการเมืองท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) จนถึงการเมืองระดับชาติ ควรมีการจัดโควตาและมีการตรวจสอบ ติดตามอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงจัง โดยในมาตรฐานสากล การกำหนดอัตราส่วนทางเพศที่เท่าเทียมกันในสถานที่ทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่มีบทบาทในการจัดอันดับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกว่าเป็นองค์กรไหนเป็นองค์กรชั้นนำ ที่ยั่งยืน และมี Corporate Governance ที่ดีอยู่ เช่น การจัดอันดับของ S&P Dow Jones Index หรือที่รู้จักกันในนามว่า DJSI นั้น ที่มอบให้ประเด็น Gender Equality and Inclusion เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหลักในการให้คะแนนความยั่งยืน ซึ่งเป็นคะแนนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก

“DJSI เขาไม่ได้มองแค่ว่าในแต่ละองค์กรต้องมีสัดส่วนของคนทำงานหญิง-ชายที่เท่าเทียมกัน แต่เขามองลึกไปถึงอัตราของผู้บริหารที่เป็นผู้หญิง และอัตราการเติบโตในอาชีพการงาน การเลื่อนตำแหน่ง ของผู้หญิงในองค์กรด้วยว่ามีความเท่าเทียมกันกับผู้ชายแล้วหรือยัง ตนเล็งเห็นว่าควรมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางเช่นนี้ขึ้นมาควรเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการคู่ขนาน กับการเพิ่มโควตาผู้หญิงในการเมืองไทย เพื่อเป็นไม้บรรทัด มาวัดมาตรฐานในการดำเนินการของแต่ละองค์กร แต่ละพรรคการเมือง ว่าเข้มแข็งพอรึยัง ให้ความสำคัญมากพอแล้วหรือยังด้วย ผลการจัดอันดับยังจะเป็นฐานข้อมูลที่เป็นเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพความเท่าเทียมกันทางเพศในองค์กรภาครัฐในประเทศไทยได้ด้วย” นางรัดเกล้ากล่าว

นางรัดเกล้า กล่าวด้วยว่า ในงานวิจัยยังมีการกล่าวถึง “ความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่การเมือง” อีกด้วย ซึ่งมีการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ รวมกันแล้วถึง 60% ของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในทุกวันนี้ ซึ่งตนมีความเห็นสอดคล้องกับแนวนโยบายของรวมไทยสร้างชาติใน 3 นโยบายที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหานี้ ได้แก่ 1.ผลักดัน “กฎหมายล่อลวง หรือ Grooming” ซึ่งเป็นกฎหมายป้องกันการละเมิดทางเพศผ่านทางโลกไซเบอร์ โดยพิจารณาว่า เพียงแค่มีพฤติกรรมล่อลวง (Grooming) ก็สามารถนับเป็นความผิดได้แล้ว ปัจจุบันมีการนำมาใช้จริงแล้วในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และ ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ ฟิลิปปินส์ โดยในประเทศไทยพบว่า มีจำนวนผู้ถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์ติดเป็นอันดับ 2 ของโลก จึงต้องเร่งทำ

นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้เกิด“แอปพลิเคชัน Chatbot และ AI เพื่อช่วยหลือผู้ถูกทำร้าย” โดยการนำระบบ Chatbot และ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการร้องเรียน จะช่วยคัดกรองเหยื่อ และส่งต่อเรื่องไป สถานพยาบาล และกระบวนการสอบสวนเพื่อดำเนินคดี โดยจะต่อยอดจาก แอปพลิเคชั่น MySis ที่ริเริ่มโดย พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ ที่จะทำให้ผู้ถูกสอบสวนมีความสบายใจในการให้ข้อมูล และ 3. ผลักดันให้ “มีการเรียนมวยไทยในโรงเรียน” ในหลักสูตรการเรียนพละศึกษา เพื่อเป็นอาวุธติดตัวให้กับเยาวชนไทย ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เป็นทักษะป้องกันตัวที่สามารถนำมาใช้ในยามคับขันได้” นางรัดเกล้ากล่าว

© 2021 thairemark.com