Thursday, 12 September 2024 - 4 : 03 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เอเปกกับโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย“เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกปี 2565 (APEC 2022) ซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมนี้มาแล้ว ในปี 2546 สำหรับการประชุมในปีนี้จะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอเล่าประเด็นที่น่าสนใจของการประชุมนี้ให้กับท่านผู้อ่านค่ะ

เอเปก เป็นการรวมกลุ่มของ 21 เขตเศรษฐกิจเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เน้นหารือในประเด็นทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านสังคมและการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ความร่วมมือด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และยั่งยืนของประชาชนในภูมิภาค

ทั้งนี้ เอเปกถือเป็นหนึ่งในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของโลก เนื่องจากประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก รวมถึงมีมูลค่าการค้ารวมกันกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทย ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่นๆ อีกทั้งการเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดขึ้นทันที โดยเฉพาะภาคคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่า ไทยสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้และยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน

สำหรับประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการเป็นเจ้าภาพการประชุม ได้แก่ 1)การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทของเศรษฐกิจหลังโควิดที่จะหันมาเน้นเรื่องของความยั่งยืนและสมดุล รวมถึงต้องเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน 2)การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคหลังโควิด โดยเฉพาะการฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ ทั้งการอำนวยความสะดวกด้านเอกสารการเดินทางให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัวยิ่งขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน และการขยายขอบเขตการอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางของนักธุรกิจเอเปก ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนของภูมิภาค และ 3)การส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนท่ามกลางบริบทโลกที่ท้าทาย โดยมีการเตรียมการผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ” (Bangkok’s Goals) ตามแนวคิด “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” (บีซีจี) เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ทั้งหมดนี้จะนำก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนค่ะ.

โดย…ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

© 2021 thairemark.com