Sunday, 8 December 2024 - 3 : 09 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘คลัง-พาณิชย์’มั่นใจ’ธปท’เอาอยู่ค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่งออก ท่องเที่ยว สมหล่นหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโต

กระทรวงคลังและพาณิชย์เชื่อมั่น ธปท.ดูแล”ค่าเงินบาท”อ่อนตัว หากผันผวนมาก ธปท.จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ ขณะที่ปลัดพาณิชย์ชี้บาทอ่อน ส่งผลดีต่อส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร ด้านแอตต้าเชื่อเงินบาทอ่อนช่วยดึงดูดต่างชาติเที่ยวไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อีก 0.75% โดยเฟดตั้งเป้าว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอีก 4-4.5% ดังนั้น ยังต้องติดตามว่าจะมีผลอย่างไรกับประเทศไทย โดยการหารือกับ ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหรือไม่ ได้แก่ 1.อัตราเงินเฟ้อโดยจะต้องดูว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินเฟ้อและมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน 2.การขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แบบปกติ และ 3.เงินทุนเคลื่อนย้าย โดยช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติ ธปท.ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

“สำหรับปัจจัย 3 ข้อ คือเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายของเงินทุน จะให้น้ำหนักในเรื่องใดมากกว่ากันนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท. ที่จะเป็นผู้พิจารณาเอง ซึ่งทั้งคลังและ ธปท. มีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หากมีความผันผวนมาก ธปท.ก็จะเข้าไปดูแล”นายอาคม กล่าว

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 37.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบหลายปีนั้น ถือเป็นจังหวะที่ดีของการส่งออกไทย ที่จะนำเงินเข้าประเทศได้มากขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว

ขณะที่นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ไทยผลิตได้เองไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอาหาร เนื่องจากหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงเป็นโอกาสของการส่งออก แต่กลุ่มที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักรกล ก็อาจได้รับผลกระทบ เพราะต้องใช้เงินบาทมากถึง 37 บาทกว่า เพื่อแลกเป็นเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธปท.สามารถดูแลค่าเงินบาทได้

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากอเมริกา ยุโรป หรือชาติอื่นๆในเอเชีย เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเกิดการใช้จ่ายในไทยมากขึ้นด้วยเพราะเขารู้สึกว่าราคาสินค้าในไทยราคาถูกลงคุ้มค่าสำหรับเขา นอกจากนี้ พบว่านักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาเที่ยวไทยตามแนวชายแดนจำนวนมาก ก็มีผลให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้มาซื้อสินค้าในไทยมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะสินค้า ที่เขาเห็นว่าซื้อในไทยถูกกว่าซื้อในประเทศตัวเอง

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีเงินไหลเข้าสร้างรายได้ ขณะที่ดุลการค้าหรือการส่งออกที่กำลังฟื้นตัวและดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเมื่อมีเงินไหลเข้ามาก็จะทำให้ค่าเงินบาทค่อยๆกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะหากการท่องเที่ยวและการส่งออกฟื้นตัวเต็มที่

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง โดยเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 37.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นยังอ่อนค่าต่อเนื่องจนลงมาแตะ 37.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่ค่าปอนด์ของอังกฤษ อ่อนค่าสุดในรอบ 37 ปี เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าในรอบ 24 ปี เงินยูโรอ่อนค่าในรอบ 20 ปี เงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าสุดในรอบ 14 ปี

© 2021 thairemark.com