การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนจีนสร้างโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ในประเทศไทย หลังสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีนเข้าหารือ ด้วยการตั้งคณะทำงานศึกษาถึงแนวทางร่วมกัน
นายวิจิตร หยาง นายกสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ตนและคณะที่ปรึกษาสมาคมฯ ได้เข้าพบ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอการสนับสนุนโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งทางกนอ.ก็ยินดีพร้อมให้การสนับสนุน และได้มอบหมายให้ คุณนิภา รุกขมธุร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการฯร่วมกัน
ส่วนแนวทางการทำงานร่วมกันกับทางการนิคมฯ รศ.ดร.อภิชาติ อนุกุลอำไพ ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวว่า หลังจากทางสมาคมฯตั้งคณะทำงานร่วมกัน ขั้นตอนต่อไปจะทำข้อตกลงความร่วมมือ และศึกษาในรายละเอียด และรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพราะการตั้งอุตสาหกรรมต้องรู้แหล่งวัตถุดิบ การขนส่ง จุดโรงงานแปรรูป และวางเป็น Business Model โดยเราจะพยายามดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้เป็นรูปเป็นร่าง จากนั้นจะชักชวนนักลงทุนจีน เพื่อเข้ามาร่วมงานประชุมไผ่ภูมิภาคนานาชาติที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดน่าน ในปี 2567
“อุตสาหกรรมไผ่เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมาก เพราะไผ่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนที่สูง สามารถแปรรูปได้หลากหลาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ไผ่ยังช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งในอนาคตไทยเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย”
นายนันทวัฒน์ พรรณสกุลวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า แนวคิดในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ จะจัดตั้งในลักษณะ Social Enterprise โดยเราจะเริ่มทำโฮลดิ้งก่อนแล้วผนวกเข้ากับพื้นที่การนิคมฯ แต่ถ้าหากไม่มีพื้นที่ ก็จะจัดหาที่ดินเองในรูปแบบการลงทุนของเอกชน แล้วดึงการนิคมอุตสหกรรมเข้ามาร่วมกับทางสมาคมฯ จากนั้นจะตั้งบริษัทลูกเป็นการร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยนักลงทุนจีนกับไทยร่วมกันเข้ามาใช้พื้นที่ที่จัดสรรไว้ และอนาคตต่อไปเราก็จะใช้ Business Model นี้ ในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป
สำหนับแนวคิดในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ของสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน โดยการสนับสนุนด้านการค้าการลงทุนและงานวิจัยจากสถาบันไม้ไผ่นานาชาติจีน เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาคเพื่อลดปัญหาโลกร้อนจาก Green house effect สร้างป่าไผ่เพื่อเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม สร้างระบบนิเวศที่ดี และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน