Friday, 19 April 2024 - 3 : 43 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

5 เทคโนโลยีผลิตถั่วฝักยาว ลดต้นทุน 10% สร้างรายได้เพิ่ม 52%

จากปัญหาการผลิตถั่วฝักยาวของเกษตรกร อ.วังทรายพูน อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ที่มีพื้นที่ปลูก 132 ไร่ มีต้นทุนการผลิตสูงทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก (สวพ.2) จึงได้นำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตผัก ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน และ ต.ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง ผ่านกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม คือการฝึกอบรมและเสวนา และการจัดทำแปลงต้นแบบ

“โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้นำเทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตร 5 เทคโนโลยี เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วฝักยาวในแปลงต้นแบบ ได้แก่

1.เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต 5 กก. คลุกผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ 100 กก. ให้เข้ากันแล้วใช้รองก้นหลุมพร้อมปลูกหรือใส่รอบโคนต้นถั่วฝักยาวที่อายุ 1-2 สัปดาห์

  1. เทคโนโลยีการจัดการปุ๋ยเคมีจากปุ๋ยสูตรสำเร็จ มาเป็นการผสมปุ๋ยใช้เองตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยปุ๋ยรองพื้น ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตราไร่ละ 7 ก.ก. ผสมกับปุ๋ยสูตร 18-46-0 อัตราไร่ละ 17 กก. และปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตราไร่ละ 15 กก. เมื่อถั่วฝักยาวมีอายุ 1 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 13 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 15 กก.ต่อไร่

3.เทคโนโลยีไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย ป้องกันกำจัดพวกหนอนกินใบในระยะตัวอ่อน เช่น หนอนกระทู้ หนอนชอนใบ หนอนคืบ เป็นต้น ใช้ในอัตราไส้เดือนฝอย 5-10 ถุงต่อน้ำ 20 ลิตร ปริมาณและความเข้มข้นต่อพื้นที่จะแปรผันตามความรุนแรงของการระบาด

4.เทคโนโลยีการใช้มวนพิฆาต ควบคุมหนอนกระทู้ หนอนคืบ และหนอนเจาะผลมะเขือ ปล่อยมวนพิฆาตไร่ละ 1,000-3,200 ตัวต่อครั้ง ตามความรุนแรงของการระบาดของศัตรูพืช

และ 5.เทคโนโลยีพันธุ์พืช ปลูกถั่วฝักยาวพันธุ์พิจิตร 3 ของกรมวิชาการเกษตร ที่มีลักษณะเด่นเนื้อหนา อายุเก็บเกี่ยวสั้น 43 วัน ให้ผลผลิตสูงไร่ละ 3,861 กก. ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองในฤดูกาลผลิตต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตร เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกรแปลงต้นแบบ”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงผลที่ได้จากการนำ 5 เทคโน โลยีดังกล่าวมาใช้กับแปลงต้นแบบว่า ทำให้ได้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 3,850 กก. มากกว่าวิธีการผลิตแบบเดิมของเกษตรกรที่ให้ผลผลิตเพียงไร่ละ 2,000 กก. ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึงไร่ละ 1,850 กก. หรือเพิ่มขึ้น 92.5%

นอกจากนี้ ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตลง 1,250 บาทต่อไร่ จากเดิมทีเกษตรกรมีต้นทุนไร่ละ 12,500 บาท ลดลงเหลือ 11,250 บาท ลดต้นทุนไปได้ 10% ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากไร่ละ 24,000 บาท เป็น 36,700 บาท ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 52.9%.

© 2021 thairemark.com