Sunday, 15 September 2024 - 10 : 58 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

“กลไกตลาด” สมดุลราคาที่เป็นธรรม สินค้าขึ้นได้-ลงได้ ต้องใช้เวลาแทนขวัญ มั่นธรรมะ

เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ผลกระทบของสงครามทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ปรับสูงขึ้นกว่า 30% ที่สำคัญราคาน้ำมันดิบสูงเป็นประวัติการณ์ ยืนเหนือ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และยังไม่มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงล้อไปกับสงครามที่ยังยืดเยื้อจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคทยอยปรับราคาขึ้นจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้กระแส “วิกฤตอาหารขาดแคลน” ทำให้หลายประเทศประกาศใช้มาตรการปกป้องตัวเองให้มีอาหารเพียงพอสำหรับคนในชาติ ด้วยการระงับการส่งออกสินค้าอาหาร เช่น อินโดนีเซียระง้บการส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับปรุงอาหารเป็นการชั่วคราว ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็ห้ามส่งออกข้าวสาลีเช่นเดียวกับรัสเซียและยูเครน ยิ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ธัญพืชสำคัญปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

สินค้าอุปโภค-บริโภคหลายรายการในไทย เดินแถวขอปรับราคาสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นจน “สุดต้าน” โดยเฉพาะการยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 30 บาท เป็น 32 บาท/ลิตร ส่งผลให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% แต่ราคาน้ำมันดีเซลยังมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปถึง 35 บาท/ลิตร ยิ่งซ้ำเติมต้นทุนการผลิตอีกระลอก

สำหรับเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ เนื้อหมู ไข่ไก่ และเนื้อไก่ มีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบ เพราะต่างต้องพึ่งพาทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารสัตว์ นอกจากนี้ เนื้อหมูยังเจอผลกระทบสำคัญจากการระบาดของโรค ASF ทำให้ผลผลิตหายไป 50% ราคาจึงต้องปรับขึ้นตามอุปทานที่ลดน้อยลงมาก ขณะที่ผู้เลี้ยงร่วมมือกันเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อรักษาระดับราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไว้ที่ 100 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ โดยราคาหน้าฟาร์มยืนมาเป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว ขณะที่เกษตรกรมีการนำหมูเข้าเลี้ยงแล้ว 20% คาดว่าเมื่อผลผลิตรุ่นใหม่จะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นและหากสงครามไม่ยืดเยื้อ ราคาเนื้อหมูก็จะเข้าสู่ภาวะปกติภายในสินค้าปีนี้ ตามที่กรมปศุสัตว์วางแผนไว้

Raw chicken breast fillets on wooden cutting board with herbs and spices.

ส่วนราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ 3.50 บาท และล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง สหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี ประกาศปรับราคาหน้าฟาร์มลดลง 20 สตางค์/ฟอง เหลือฟองละ 3.30 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากอุปทานมีมากขึ้นจากกำลังซื้ออ่อนตัวลงช่วงใกล้เปิดเทอม มีการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน แต่การกลับมาเปิดเรียน onsite จะกระตุ้นให้การบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นบทพิสูจน์ “กลไกตลาด” ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์จากราคาไข่ไก่ที่อ่อนตัวลงตามอุปสงค์ ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลกับการค้ากำไรเกินควร เพราะที่ผ่านมา 20 ปี ไข่ไก่หน้าฟาร์มมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเพียง 1 บาท เท่านั้น จากฟองละ 2.30 บาท เป็น 3.30 บาท ในปัจจุบัน หากเทียบกับราคาน้ำมันและราคาทองคำในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า

เห็นได้ว่า “กลไกตลาด” เป็นตัวขับเคลื่อนราคาสินค้าที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้คนไทยมีเนื้อหมู เนื้อไก่และไข่ไก่ บริโภคอย่างต่อเนื่องไม่ขาดแคลนและไม่หายไปจากตลาด แม้ราคาอาจปรับสูงขึ้นบ้างก็เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตามปกติกลไลตลาดก็จะทำหน้าที่ปรับราคาสินค้าขึ้น-ลง อัตโนมัติ สร้างความยุติธรรมให้กับผู้บริโภคและเกษตรกร ไม่ซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ผู้เลี้ยงไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ต้องแบกภาระขาดทุนสะสมจากต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยป้องกันโรคที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากจะระงับการส่งออกเพื่อสงวนผลผลิตไว้สำหรับประชากรในประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างสมดุลอุปสงค์-อุปทาน โดยมีกลไกตลาดเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนราคาสินค้าแทนการใช้มาตรการคุมราคาที่เคร่งครัดมาก กดดันผู้ประกอบการจนประสบปัญหาขาดทุนและต้องเลิกกิจการออกจากระบบไป กระทบต่ออุปทานจนสินค้าอาจหายไปจากตลาด และมีราคาสูงมากจนภาครัฐไม่สามารถควบคุมราคาได้อีกต่อไป ที่สุดต้องผลักภาระให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่ควรละเลยปัญหาหน้าใหม่ของผู้เลี้ยงสุกร คือ ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูตามชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่หวังฉวยโอกาสจากส่วนต่างระหว่างหมูในไทยมีราคาสูง โดยนำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนแช่แข็งแต่สำแดงเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ “ตบตา” ให้ผ่านพิธีการศุลกากรได้สะดวกและนำมาขายปะปนกับหมูเขียงในตลาด ที่สำคัญหมูลักลอบนำเข้าอาจมีโรคระบาดทั้ง ASF หรือ โรคอื่นๆ ติดเข้ามากับเนื้อสัตว์ รวมถึงอาจมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนซึ่งเป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายของกรมปศุสัตว์ ที่เป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งบ่อนทำลายทั้งสุขภาพคนไทยและเศรษฐกิจของประเทศ./

© 2021 thairemark.com