Monday, 13 January 2025 - 7 : 06 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ปลาหมอคางดำ เมนูอาหารหลากหลายต้องเร่งพัฒนา อย่ามัวแต่เดินจงกลมหาคนผิด

หลายวันที่ผ่านมา เห็นในหน้าสื่อนำเสนอการลงพื้นที่สำรวจปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนของหน่วยงานรัฐเป็นปกติ แต่ประเด็นที่นำเสนอก็ยังหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว การดำเนินงานของรัฐ และการเอาผิดกับบริษัทที่นำเข้าปลามา (ว่ากันตามข้อเท็จจริง 11 บริษัทที่ลักลอบนำเข้า-ส่งออกปลาหมอคางดำก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆเพราะเชื่อสนิทว่ากรอกเอกสารผิดพลาด) วนเวียนแบบนี้ปัญหาการแพร่ระบาดไม่ได้รับการแก้ไขแน่นอน

พิจารณากันตามข้อเท็จจริง ถ้าเดินตามหลักวิชาการที่กรมประมงว่าไว้หลักๆ 5-6 ข้อ จับให้มากและเร็วที่สุด ใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ปล่อยปลาผู้ล่า ใช้เทคโนโลยีในการระบุแหล่งที่ปลาชุกชุม ให้ความรู้ความเข้าใจในการกำจัดกับชุมชนอย่างถูกต้อง และนำนวัตกรรมเหนี่ยวนำโครโมโซมทำให้ปลาเป็นหมัน น่าจะเป็นหนทางที่ประสบความสำเร็จได้ในปี 2570 ตามเป้าหมายของกรมฯ แต่วันนี้เดินหน้าได้เพียง 2 ข้อเท่านั้น ก็บอกว่าปลากลับมาระบาดหนักอีก หากพบเห็นชุมชนปลาต้องแจ้งประมงในพื้นที่ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ยินดีรับฟังปัญหาและพร้อมเข้าภายใต้วาระแห่งชาติที่มีแผนปฏิบัติงานวางไว้แล้ว

ลองมองปลาหมอคางดำในฐานะอาหารของมนุษย์ นักวิชาการที่ศึกษาข้อมูลด้านอาหารและสุขภาพก็ยืนยัน นั่งยัน หลายสำนักว่ามีโปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างจากปลาทั่วไป มีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย แต่อาจจะมีก้างเยอะกว่าปลาชนิดอื่น แต่รับประทานได้ปกติ การพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งนักวิชาการอาหารกรมประมง ก็คิดค้นหลากหลายเมนูเพื่อสนับสนุนครัวเรือนและชุมชนให้นำไปทำเป็นมื้ออาหารหรือไปสร้างรายได้หลายรายการ

เช่น ข้าวเกรียบ ปั้นขลิบ น้ำยา ไส้อั่ว ทอดมัน ฉู่ฉี่ ปลาร้า หรือ น้ำปลาร้า รวมถึงสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีการพัฒนาน้ำพริก น้ำปลาร้าหมัก ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดอาหารอื่นๆ หรือนวัตกรรมที่จะทำให้ระยะเวลาในการหมักปลาร้าสั้นลงไม่ต้องนานเป็นปีเช่นที่ผ่านมา แต่ยังคงรสชาติความอร่อย กลิ่นและคุณค่าทางอาหารได้อย่างดี เหล่านี้ล้วนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากปลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การนำไปสร้างเป็นเมนูอาหารที่หลากหลาย นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรสนับสนุนให้มากขึ้นเพราะเป็นการสร้างความต้องการปลาหมอคางดำสูงขึ้น และยังเป็นแรงจูงใจให้กับชุมชนและคนจับปลาหันไปกวาดล้างปลาหมอคางดำให้มากขึ้นตามลำดับจากราคาที่จะปรับสูงขึ้นตามความต้องการ  

ส่วนที่กล่าวกันว่าขณะนี้ราคาปลาหมอคางดำราคาตกเหลือกิโลกรัมละ 3-4 บาท ไม่คุ้มกับต้นทุนจับปลา เพราะไม่มีคนรับซื้อหลังรัฐบาลงบประมาณหมดที่เคยรับซื้อ15 บาทต่อกิโลกรัมก็ทำไม่ได้อีกต่อไป ที่ได้อ่านพบข้อมูล คือ มีคนรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท ไปบดเป็นอาหารปูและปลา ก็ควรลองศึกษาว่าตรงไหนรับซื้อราคาสูง ชุมชนก็ลงแขกจับปลาไปขายแบ่งผลประโยชน์กันตามเหมาะสม หรือจะจับเป็นอาหารในครัวเรือน หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหมอคางดำสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก็มีคนที่สำเร็จมาแล้ว ทั้งน้ำปลา น้ำปลาร้า ปลาแดดเดียว ที่มีมูลค่าเพิ่มถึงกิโลกรัมละ 70-80 บาท

ล่าสุดกรมประมง เตรียมทำเรื่องของบประมาณอีก 60 ล้านบาท มาสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แนวทางของรัฐ ตลอดจนการร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำปลาหมอคางดำที่จับได้ไปพัฒนาสร้างรายได้ เช่น กรมราชทัณฑ์ ในการนำไปผลิตเป็นน้ำปลา และเป็นอาหารให้กับผู้ต้องขัง  

อีกประเด็นหนึ่งที่ยังรอผลการพิสูจน์ความชัดเจน คือ DNA ของปลา เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมยืนยันความถูกต้องของ DNA ของปลาหมอคางดำที่บริษัทเอกชนนำเข้ากับปลาหมอคางดำที่พบแพร่ระบาดในไทยมาจากแหล่งเดียวกัน แต่เป็นเพียงการตีความของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องนี้ต้องอาศัยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมีความแม่นยำในการยืนยันแหล่งที่มาของปลาหมอคางดำ และกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม และจะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยและความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคม

ต่างคนต่างมุมมอง ที่สำคัญขณะนี้มีการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรฟ้องร้องบริษัทเอกชนที่นำเข้าปลาหมอคางดำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาของศาลแพ่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 21 มกราคมนี้ ดังนั้นเรื่องใครผิดใครถูกควรอดใจให้เป็นการพิจารณาและตัดสินของศาล สิ่งที่คนไทยทุกคนทำได้ดีที่สุดตอนนี้ คือ ช่วยกันจับปลา หรือพบก็แจ้งกรมประมง ให้มาดำเนินการต่อ จับมาแล้วก็อย่าไปปล่อยที่อื่น ปลากินได้ ขายได้ ทำประโยชน์ได้ ก็ทำตามคำแนะนำเพื่อร่วมช่วยกันลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อปลาน้อยลงชะลอการแพร่ระบาด เพื่อเดินหน้าตามขั้นตอนของรัฐให้ถึงปลายทาง คือ เหนี่ยวนำโครโมโซมปลาให้เป็นหมันเพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด ดีกว่ามาเดินจงกลมด้วยเดิมๆ แต่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

โดย…สินี ศรพระราม นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com