Tuesday, 24 December 2024 - 12 : 04 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ผลศึกษาปลาหมอคางดำจากกานา-โกตดิวัวร์ ชี้ชัดว่าปลานำเข้าหลายครั้ง

แม้ว่าคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ (อนุ กมธ. อว.) จะแถลงข่าวสรุปผลการศึกษาฯ ไปแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าประชาชนที่ติดตามข่าวนี้อีกจำนวนมากยังคลุมเครือกับผลที่ออกมา เหมือนความจริงไม่ได้ถูกเปิดเผยทั้งหมดเพียงแต่ต้องการชี้ว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยมีต้นทางมาจากกานาประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งย้อนแย้งกับผลการรายงานล่าสุดที่กรมประมงได้ทำการเปรียบเทียบดีเอ็นเอของปลาชนิดนี้ กับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำจากแอฟริกาและผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า DNA ของปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในไทยมาจาก 2 ประเทศ คือ กานาและโกตดิวัวร์ (ไอวอรี่โคสต์)

เมื่อมีโอกาสได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ จึงได้สอบถามถึงผลการศึกษาของกรมประมงล่าสุดว่าหมายความว่าอย่างไร ก็ได้คำตอบที่แปลผลตามหลักวิชาการทำให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งขึ้นว่า การพบว่า DNA ของปลามาจาก 2 ประเทศ ทั้งกานาและโกตดิวัวร์ ขณะที่บริษัทเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้าเพียงรายเดียวยืนยันว่านำเข้ามาจากประเทศกานา แสดงว่ามีการนำเข้าปลามากกว่า 1 ราย และนำเข้ามากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่มีการขออนุญาต โดยมีความเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบนำปลาเข้ามา

ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักการของ neutral theory ว่าการเปลี่ยนแปลงของ DNA หนึ่งตำแหน่งจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกๆ ประมาณ 100,000 – 200,000 ปี ดังนั้นเครื่องหมายจาก Mitochondrial DNA (mtDNA) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบพันธุกรรมของปลาหมอคางดำในครั้งนี้ จึงสามารถนำมาใช้ระบุแหล่งที่มาของปลาที่กำลังถกเถียงกันในปัจจุบันได้ เพราะปลาหมอคางดำที่มีการนำเข้ามาภายในราชอาณาจักรไทยเมื่อประมาณ 14-15 ปีที่ผ่านมา จึงไม่เกิดการกลายพันธุ์ (mutation) ใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลง DNA ของปลาที่นำเข้ามาได้

การศึกษาวิจัยโครงสร้างพันธุกรรมปลาหมอคางดำของกรมประมงในปี 2565 เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ DNA ของประชากรปลาหมอคางดำที่พบในประเทศไทยเท่านั้น แต่ไม่ได้นำไปเปรียบเทียบกับ DNA ของปลาหมอคางดำจากประเทศต่างๆในแอฟริกา ทำให้การแปลผลไม่ครอบคลุมและอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

จากการศึกษาก่อนหน้านี้ของ Thomas M. Folk และคณะ (2003) ได้ใช้ลำดับดีเอ็นเอของส่วน control region (D-loop) พบรูปแบบของลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ S. melanotheron ของตัวอย่างในแอฟริกาจากสาธารณรัฐเซเนกัลจนถึงสาธารณรัฐเบนิน จำนวน 58 แบบ โดยไม่ปะปนกันระหว่างแหล่งน้ำต่างๆ ดังนั้นปลาหมอคางดำจึงมีวิวัฒนาการที่รูปแบบของ mtDNA สามารถระบุแหล่งภูมิศาสตร์กำเนิด (phylogeographic patterns) จากประเทศต่างๆได้ ดังนั้นหากลำดับดีเอ็นเอของปลาที่ระบาดในราชอาณาจักรไทย ตรงกับลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำจากแอฟริกา100% เราก็จะสามารถระบุแหล่งที่มาในระดับประเทศของปลาได้อย่างมั่นใจ

การวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการจะช่วยบ่งชี้รูปแบบของดีเอ็นเอที่มีลำดับดีเอ็นเอน้อยกว่า100% โดยแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับรูปแบบดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำจากแอฟริกาแบบใด และรูปแบบดีเอ็นเอนั้นมาจากแหล่งน้ำของประเทศใด เนื่องจากรูปแบบดีเอ็นเอที่กรมประมงรายงานในปี 2565 ไม่อยู่ในฐานข้อมูล GenBank จึงควรมีการศึกษาพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดในปัจจุบันจากแหล่งระบาดต่างๆให้ครอบคลุม ก็จะเป็นการทดแทนการศึกษาพันธุกรรมปลาหมอคางดำที่บริษัทเอกชนที่นำเข้ามาเมื่อปี 2553 ในระดับที่สามารถยอมรับได้ในวงการวิทยาศาสตร์

ผลการพิสูจน์ DNA ปลาหมอคางดำมาจากกานาและโกตดิวัวร์ ประกอบกับคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรม จึงเป็นไปได้ว่า ปลาหมอคางดำที่พบในประเทศไทยมีการนำเข้ามามากกว่า 1 ครั้ง และมีการนำเข้ามามากกว่า 1 บริษัท นั่นหมายถึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมจากโจทย์ดังกล่าวว่าบริษัทอื่นๆ ที่มีการลักลอบนำเข้าปลาหมอคางดำมาในราชอาณาจักรไทยคือใครและนำเข้ามากี่ครั้ง เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการลงโทษผู้กระทำผิด และยุติกรณีนี้อย่างโปร่งใส รวมถึงเดินหน้าแผนลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เหลือน้อยที่สุด ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพกลับสู่ธรรมชาติ คืนความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย และควบคุมปลาให้อยู่ในวงจำกัดและอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ปาจรีย์ เนินสำราญ นักวิชาการอิสระ

เอกสารอ้างอิง
Falk, T.M., Teugels, G.G., Abban, E.K., Villwock, W., Renwrantz, L., 2003. Phylogeographic patterns in populations of the blackchinned Tilapia complex (Teleostei, Cichlidae) from coastal areas in West Africa: support for the refuge zone theory. Mol. Phylog. Evol. 27, 81–92. https://doi.org/10.1016/S1055-7903(02)00369-X.

© 2021 thairemark.com