มติ ครม.เห็นชอบ อนุมัติเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 5.6 หมื่นล้าน “ธรรมนัส” แจ้งข่าวดีให้ชาวนาทราบ ย้ำ รัฐไม่เคยทิ้งชาวนา พร้อมขับเคลื่อนมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าว ดึงราคาหอมมะลิเกี่ยวสด ตันละ 1.2 หมื่น
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วันนี้เห็นชอบตามข้อเสนอตามที่คณะกรรมการบริหารและจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่เสนอมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท
มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจะให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท กับเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับชาวนาได้เร็วที่สุดในวันจันทร์หน้า (20 พ.ย.) และช้าสุดไม่เกิน 1 เดือน โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินในส่วนนี้ไปก่อนแล้วรัฐบาลใช้เงินงบประมาณจ่ายคืนภายหลัง”
รมว.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มว่า การช่วยเหลือชาวนาเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดูข้าวนาปี 66/67 2 มาตรการ โดยมีเป้าหมายการนำข้าวออกจากระบบ 4 ล้านตัน จากปริมาณข้าวที่ออกมาสู่ตลาด 10 ล้านตัน ได้แก่
- สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท ช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตันโดยให้สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน และเกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน โดยให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 ในราคาข้าวหอมมะลิความชื้นไม่เกิน 25 % หรือหอมมะลิเกี่ยวสด ตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวขึ้น รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มียุ้งฉางด้วย
- สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 30 ก.ย. 2567