ภาคใต้ “ใกล้วิกฤติข้าวโคม่า” นาข้าวปล่อยนาร้างหันลงทุนปปาล์มน้ำมัน เหตุขาดมูลจูงใจทำนา สาธารณูปโภคขาดแคลนต้องนำเข้าจากภาคกลาง อีสาน 80 เปอร์เซ็นต์ โรงสีต้นทุนเพิ่ม 1,000 บาท / ตัน เดินเครื่องได้ 30 เปอร์เซ็นต์ อนาคตชาวนา โรงสี พ่อค้าข้าวตกงาน ราคาข้าวสารขยับ 50 บาท / กก. ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษนาข้าว เปิดตลาดเสรีค้าข้าวไทย มาเลเซีย ดันแรงจูงใจทำนา ระบุ ข้าวใต้ ขยับจาก 8,000 บาท / ตัน เป็น 9,500 บาท / ตัน ขายหมดสต๊อก / ปี / ปี ระบุมาเลเซียนิยมข้าวไทย แถมราคาดี ไทย 13 บาท / กก. มาเลเซีย 20 บาท / กก.
นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ เจ้าของโรงสีข้าวโสภณเจริญพาณิชย์ นายกกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผยว่า ทางสมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณพัทลุง สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ชาวนา 3 จังหวัดภาคใต้ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง เสวนาวิกฤติข้าวภาคใต้ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณพัทลุง อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อหาทางออกของชาวนา โรงสีข้าว พ่อค้าข้าว และและผู้บริโภคข้าวภาคใต้
ทั้งนี้สถานการณ์ประกอบอาชีพทำนา ประกอบการโรงสีข้าวภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัด จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา แหล่งทำนาข้าวและโรงสีข้าวรายใหญ่ของภาคใต้กำลังเกิดภาวะวิกฤติขาดแคลนข้าว ถึงขั้นรุนแรงเนื่องจากพื้นที่ทำนาที่มีประมาณกว่า 1 ล้านไร่ มาจนถึงขณะนี้พื้นที่ทำนาเหลืออยู่ประมาณ 300,000-400,000 ไร่ / ฤดู อีกกว่า 700,000 ไร่ ถูกปล่อยทิ้งเป็นนาร้างและได้ทยอยลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของภาคใต้และทางภาคใต้ต้องนำเข้าข้าวจากภาคกลางและภาคอีสานถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และยังต้องนำเข้าป้อนโรงสีข้าวแปรรูปเป็นข้าวสาร โดยภาพรวมแล้วโรงสีข้าวทำงานได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากโรงสีข้าวที่มีอยู่ประมาณ 100 โรงที่เป็นสมาชิกสมาคม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวของโรงสีข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 บาท / ตัน หรือประมาณ 1 บาท / กก. นอกนั้น 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นข้าวในพื้นที่นาทางภาคใต้จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยต้องทำนาให้ได้ประมาณ 1 ล้านไร่ ประมาณ 700,000 ตัน / ฤดูกาล จึงจะสมดุล
“แนวโน้มทิศทางการทำนาประมาณว่าอีก 10 ปีข้างหน้าหากไม่ได้รับการรณรงค์จากภาครัฐและสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะเหลือพื้นที่นาน้อยมากและจะต้องนำเข้าข้าว ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงและในที่สุดจะได้บริโภคข้าวในราคาที่สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 บาท / กก. และ 35 บาท / กก. เพราะขณะนี้ข้าวสารเกรดกลาง ๆ ราคา 35 บาท 38 บาท และ 40 บาท / กก.” นายสุทธิพร กล่าว
นายสุทธิพร กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทิ้งนาข้าวให้เป็นนาร้าง แล้วบางส่วนหันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะการทำนาปัจจัยทางด้านสาธารณูปโภคไม่มีความก้าวหน้าคือระบบชลประทาน ขาดแหล่งน้ำตลอดถึงเส้นทางคมนาคมเข้าถึงพื้นที่ทำนา รัฐบาลจะต้องสนับสนุนด้วยการเป็นต้นทุนและเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าว และพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้ได้คุณภาพมีปริมาณผลผลิตที่สูงทั้งหมดจะเป็นปัจจัยลดต้นทุนการผลิตการทำนา
และแนวทางสำคัญรัฐบาลจะต้องออกแบบวางกรอบพื้นที่ทำนา 3 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทำนาพร้อมกับทางรัฐต้องมีการณรงค์กับเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ความสำคัญสำคัญของการทำนาเพราะเป็นความมั่นคงทางอาหาร ผลกระทบทางอาหาร เพราะปัจจุบัน เยาวชนคนรุ่นใหม่จะหันหลังให้กับการทำนาแต่ถึงอย่างไรการทำนานั้นในขณะนี้นั้นแรงงานก็ยังไม่ขาดแคลน และก็มีอุปกรณ์เทคโนโลยีทำนามากขึ้นด้วย
นายสุทธิพร ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการตลาดค้าข้าวทางภาคใต้ รัฐบาลต้องเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียส่งออกข้าวยังประเทศมาเลเซียเสรี เพราะข้าวมีบริษัทของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าแต่เพียงรายเดียว ทั้งนี้เพื่อให้ข้าวภาคใต้ส่งข้าวออกได้โดยตรง และชาวมาเลเซียเอง ก็นิยมบริโภคข้าวไทยมาก และจะเป็นเหตุที่จะสร้างมูลจูงใจใหหันมาทำนา ปัจจัยทั้งหมดจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้กับชาวนาได้ สำหรับในปีที่ผ่านมาการผลิตข้าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจและราคาก็อยู่ในเกณฑ์ดีได้ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
นายสมศักดิ์ พานิช เจ้าของโรงสีข้าวทิพย์พานิช เจ้าของนา และประธานชมรมโรงสีข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า การทำนาข้าวในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนนคร จ.สงขลา ปี 2565 ค่อนข้างดีเนื่องจากน้ำฝนพอเพียงและน้ำทะเลสาบสงขลาค่อนข้างดีสำหรับพื้นที่ทำนาข้าวมีประมาณ 100,000 ไร่ แต่ปรากฎว่าได้หันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันประมาณถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ปาล์มน้ำมันเข้ามาบทบาทมากเหตุผลจากหลายปัจจัย เช่น เรื่องน้ำ เรื่องศัตรูพืช ฯลฯ จนพื้นที่รกร้าง นาร้าง และป่าพรุ จะทยอยเป็นสวนปาล์มน้ำมันจะหมดแล้ว โดยราคาข้าวก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ปรับตัวขึ้นจาก 8,000 บาท / ตัน มาเป็น 9,500 บาท / ตัน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำนา จ.สงขลา พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ภาพรวม ๆ นาข้าวจะให้ผลผลิตประมาณ 600 กก. และ 700 กก. ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และประเภทข้าวพื้นเมือง และข้าว กข. โดยผลผลิตเฉลี่ยได้จะประมาณ 700 กก. / ไร่ ทำนาประมาณ 300,000 – 400,000 ไร่ / ฤดู ประมาณกว่า 200,000 ตัน เป็นเงินกว่า 1,995 ล้านบาท / ฤดู สำหรับราคาข้าวเปลือก เรื่องของการตลาดนั้นนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้าวโรงสีข้าวจะขายหมดปี / ปี และต้องมีการนำเข้ามาจากภาคกลาง ภาคอีสาน ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการส่งข้าวไปจาก จ.สงขลา ข้าวไทยก็ทำตลาดมียอดขายที่ดี เนื่องจากชาวมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยและตลาดนัดตามจังหวัดแนวพรมแดนไทย มาเลเซีย ก็จะซื้อกลับเป็นปลีกย่อยโดยไม่เกินที่ทางการมาเลเซียกำหนดไว้ เนื่องจากการนำเข้าข้าวไปยังประเทศมาเลเซีย ทางบริษัทของมาเลเซียนำเข้าได้แต่เพียงรายเดียว
“แต่หากรัฐบาลสามารถทำการเจรจากับรัฐบาลมาเลเซีย เปิดการนำเข้าส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียได้แบบเสรี ก็จะเป็นการดีกับพ่อค้ารายย่อย และชาวนาด้วยก็จะได้ส่งออกได้ด้วย และราคาที่ดีด้วย เช่นราคาข้าวสารทางใต้ ราคา 13 บาท / กก. ที่ประเทศมาเลเซียราคา 20 บาท / กก. แต่จะขึ้นอยู่กับค่าเงินริงกิตอ่อนหรือแข็ง” นายสมศักดิ์ กล่าว.
ทิศทางราคาข้าวในปี 2566 นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ก็จะขึ้นอยู่กับธรรมชาติเรื่องน้ำเป็นหลัก พร้อมกับกลไกการตลาดซึ่งไม่ต่างกับกลไกตลาดปาล์มน้ำมัน ยางพาราทางภาคใต้ เช่นกัน แต่ประมาณว่าราคาจะมีทิศทางที่ดีต่อไป.