สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร หรือ จีดีพี. เกษตร ปี 2565 ขยายตัว 0.8% โดยสาขาปศุสัตว์หดตัวลง 3.0% หนึ่งในสินค้าปศุสัตว์ที่หดตัวลดลงก็คือ สุกร ซึ่งมีผลผลิตลดลงเพราะปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับโรค ASF ขณะที่เกษตรกรบางส่วนชะลอการเลี้ยง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และยังต้องกังวลกับมาตรการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์
ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ คาดว่าในปีหน้าราคาสุกรหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ 96 บาท/กก. จากผลผลิตรวมราว 16-18 ล้านตัว เพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 ที่มีผลผลิต 15.5 ล้านตัว โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบที่ทรงตัวในเกณฑ์สูง โรคระบาดในสุกรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ราคาสุกรผันผวนและไม่เป็นไปตามกลไกตลาด
ฟังดูแล้วในปี 66 คนเลี้ยงหมูคงต้องเหนื่อยกับการพยุงตัวให้อยู่รอดให้ได้อีกปี ด้วยปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้นทุนการผลิตหมูที่พุ่งสูงขึ้น” ซึ่งหากสามารถขายหมูได้สอดคล้องกับราคาต้นทุน เกษตรกรก็คงไม่ต้องกังวลกับมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป
ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญคือ “อาหารสัตว์” ซึ่งเป็นสัดส่วนราว 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด ขณะที่ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่สำคัญคือ “วัตถุดิบ” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 80-90% โดยเป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 60% ดังนั้น “สถานการณ์โลก” จึงมีผลอย่างมากต่อราคาธัญพืชที่จำเป็นต้องใช้ และจะกระทบมาถึงคนเลี้ยงหมูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปีที่ผ่านมา “สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน” เป็นอุปสรรคอย่างมากในการส่งออกธัญพืชสำคัญ เพราะทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก มีการส่งออกรวมกันมากถึง 1 ใน 3 ของโลก และส่งออกข้าวโพดได้รวมกันถึง 1 ใน 6 ของโลก สงครามครั้งนี้จึงกระทบทั้งปริมาณผลผลิตและการส่งออก ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าสงครามจะยุติ ทำให้ปี 2566 ระดับราคาพืชวัตถุดิบจะคงอยู่ในเกณฑ์สูงแน่นอน
ขณะเดียวกันปัจจัยด้าน “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของฤดูกาล ทั้งภัยแล้งหรือฝนตกชุกในพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญของโลก เช่น สหรัฐ และบราซิล แค่สองประเทศนี้รวมกันก็ผลิตถั่วเหลืองได้ 60% ของทั้งโลกแล้ว เมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจปริมาณผลผลิตของโลกก็ลดน้อยลง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ราคาธัญพืชสูงขึ้น
นอกจากนี้ จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่อันดับต้นๆของโลก กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 มีความต้องการปริมาณอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ เพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ในประเทศ ทำให้เกิดการกว้านซื้อธัญพืชจากทั่วโลกในปริมาณมหาศาล ดันราคาขายพืชวัตถุดิบให้สูงขึ้นอีก
ลำพังเพียงปัจจัยเหล่านี้ ก็เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ต้นทุนอาหารสัตว์ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องแบกรับนั้นจะสูงขนาดไหน นี่ยังไม่นับเรื่องการรับซื้อพืชวัตถุดิบในประเทศอีก 40% ที่ก็ยุ่งเหยิงอีรุงตุงนังไม่แพ้กัน
เมื่อเห็นท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประเมินราคาหน้าฟาร์มปีหน้าอยู่ที่ 96 บาท/กก ขณะที่ต้นทุนการผลิตปลายปีนี้อยู่ที่ 100 บาท ผนวกแนวโน้มต้นทุนอาหารสัตว์ปีหน้าที่ยังคงพุ่งสูงดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ต้องบอกว่า “หนาว” แทนคนเลี้ยงหมูจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูป หรือซื้อพืชวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์เอง ล้วนน่าเห็นใจพอๆกัน
เอาง่ายๆ ราคาวัตถุดิบทุกประเภทในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2564 เฉลี่ย 25-30% แล้ว ในปี 2566 จะขยับสูงขึ้นอีก อย่างน้อย 10% ยิ่งถ้ารัฐจัดการปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศไม่ได้ บีบให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องลดกำลังการผลิต ลดคุณภาพสินค้า หรือเลิกกิจการ เวรกรรมย่อมตกมาที่ “เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์” หนำซ้ำยังมีกระทรวงพาณิชย์คอยจับจ้องด้วยมาตรการคุมราคาอีก… แบบนี้ไม่เรียกว่า “หนาว” แล้วจะเรียกอะไร?
โดย… สามารถ สิริรัมย์